0
2016-05-04_154519
ศาลสั่งไม่รับฎีกา ขสมก. เหตุไม่เกี่ยวประโยชน์สาธารณะ หลังคดียื้อกว่า 5 ปี
Posted: 03 May 2016 06:02 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
3 พ.ค. 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง (รัชดา) ห้อง 603 ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีที่นางอารี แซ่เลี้ยว ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมานิต หวังสะแล่ะฮ์ เป็นจำเลยที่ 1 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญารับขนคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงินรวม 1,328,298 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ (ฟ้องเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554)
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 กรณีอุบัติเหตุรถเมล์โดยสาร สาย 4 หมายเลขทะเบียน 12-0357 กรุงเทพมหานคร ของ ขสมก. โดยมีนายมานิต เป็นพนักงานขับรถ ได้ขับรถเมล์ด้วยความเร็ว โดยเบรกกะทันหัน ทำให้นางอารี ใบหน้ากระแทกอย่างรุนแรงกับเหล็กพนักพิงเบาะนั่งด้านหน้า ได้รับบาดเจ็บสาหัส
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 164,475 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้กับโจทก์ ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ โดยปี 2556 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 347,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 323,000 บาท ด้านจำเลยทั้งสองขอฎีกาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาที่ว่าค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์สูงเกินและฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ทั้งไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 52 และข้อกำหนดประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ข้อ 40 จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกา
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งศาลฎีกาในคดีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของ ขสมก. ที่ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้บริโภคที่ใช้บริการ ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ให้บริการสาธารณะมากกว่าการหวังผลทางคดี ซึ่งเรื่องนี้ผู้เสียหายต้องใช้เวลาต่อสู้คดีถึง 3 ศาลนานกว่า 5 ปี แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ไม่อนุญาตให้ ขสมก. ฎีกา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
“ผมเห็นด้วยที่ศาลฎีกาควรจะรับเฉพาะเรื่องที่สำคัญและเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ การยื้อคดีของ ขสมก. ไม่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตอนนี้คดีสิ้นสุดแล้ว หาก ขสมก. ยังไม่ยอมชำระค่าเสียหายตามที่ศาลกำหนดพร้อมดอกเบี้ย เราคงต้องดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมายต่อไป”ทนายความอาสาฯ กล่าว
ด้าน อารี กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2550 ไม่เคยได้รับการติดต่อหรือดูแลใดๆ จาก ขสมก. ต่อมาเมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือนัดเจรจาไกล่เกลี่ยคดีนี้ ผู้แทน ขสมก.บอกให้ฟ้องคดีไปก่อนแล้วจะจ่ายเงินค่าเสียหายให้ในชั้นศาล โดยอ้างว่า ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐจ่ายเงินก่อนฟ้องไม่ได้ แต่เมื่อตนฟ้อง ขสมก. เป็นคดีผู้บริโภคแล้ว กลับปฏิเสธการเยียวยา และสู้คดีอย่างถึงที่สุด ทำให้ตนรู้สึกผิดหวัง
“ดีใจที่ศาลให้ความเป็นธรรม คดีนี้สิ้นสุดเสียที 9 ปีที่ผ่านมาชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเลย ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานมาตลอด” ผู้เสียหายกล่าว

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top