0
สัมภาษณ์ 'คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง' ศาสนาในโลกสมัยใหม่ เปราะบาง ขัดแย้ง และประชาธิปไตย
Posted: 27 Apr 2016 03:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

การประกาศของพระสงฆ์รูปหนึ่งก่อนหน้านี้ที่ว่าหากเกิดการฆ่าพระ 1 รูปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเผามัสยิด 1 แห่ง ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้าน ถือเป็นเหตุการณ์ปักหมุดที่สร้างความวิตกกังวลถึงแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ซึ่งอาจบานปลายเป็นความรุนแรง
ในโลกยุคประชาธิปไตย (แม้จะไม่ใช่กับไทยเวลานี้) ที่ผู้คนมีความเชื่อหลากหลาย ขันติธรรมต่อความหลากหลายจัดเป็นศีลธรรมอันจำเป็น ศาสนากลับยังเป็นปมที่แกะไม่ออก ซ้ำยิ่งทวีความยุ่งเหยิง เหมือนผู้คนยิ่งรู้สึกเปราะบางกว่าเดิม ไม่ยอมให้ความเชื่อทางศาสนาของตนถูกแตะต้องล่วงเกิน จนคาดกันว่าศาสนาจะเป็นมูลเหตุความขัดแย้งสำคัญในอนาคต
ขันติธรรมทางศาสนากำลังวิกฤตเพียงใด? ประชาธิปไตย-ศาสนาที่ว่าอยู่กันคนละรากฐานจะไปกันอย่างไร? เกิดอะไรขึ้นกับศาสนาพุทธแบบไทย? เรากำลังมีอาการกลัวอิสลามหรือไม่? รัฐฆราวาสจะเป็นทางออกได้จริงหรือ? และเป็นไปได้เพียงใดที่รัฐไทยจะก้าวสู่การเป็นรัฐฆราวาส? ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ จะบ่มเพาะความขัดแย้งระหว่างศาสนาหรือไม่? ประชาไทสนทนากับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในประเด็นเหล่านี้
ประชาไท: ก่อนจะคุยกันเรื่องขันติธรรมระหว่างศาสนา อาจต้องย้อนกลับไปคำถามพื้นฐานก่อนว่า ศาสนาคืออะไร เพราะสมัยก่อนตำราเรียนจะบอกว่าศาสนาต้องประกอบด้วยศาสดา คัมภีร์ พิธีกรรม คำสอน ศาสนาในความหมายนี้ยังใช้ได้ในยุคที่ศาสนามีความลื่นไหลเช่นในยุคนี้หรือเปล่า
คมกฤช: อันนี้อาจไม่ใช่คำตอบของผมเองนะครับ แต่มีนักวิชาการบางท่านตอบไว้และเห็นว่าน่าสนใจ ศาสนาเป็นชุดของระบบโลกทัศน์กับชีวทัศน์ เป็นชุดของระบบความคิดเกี่ยวกับตัวเองและโลก เวลาเราเข้าไปสมาทานศาสนาแปลว่าเรารับเอามุมมองที่มีต่อโลก ต่อตัวเองมาไว้ แล้วมันก็จะกลายเป็นชุด ไม่ได้มาแค่อันใดอันหนึ่ง แต่มาเป็นแพ็กเกจ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดว่าเรานับถือศาสนา แสดงว่าเราสมาทานเอากระบวนการความคิด ความเชื่อทั้งหมดที่เป็นเซ็ตนี้มาไว้กับตัวเรา ผมเข้าใจว่านี่คือศาสนาในความหมายสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ต้องมีองค์ประกอบอย่างที่เราเคยเรียน ผมว่าไม่ใช่แล้ว แต่เรามองมันในแง่กรอบความคิดหรือแพ็กเกจของความคิดความเชื่อที่เราสมาทานเข้าไว้
ทุกวันนี้ยังคงมีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ?
ใช่ครับ คือผมเข้าใจว่าทุกวันนี้มีระบบความเชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นลัทธิพิธี เป็น Cult ขึ้นมาบางอย่างไม่ได้มีนัยทางศีลธรรม กับที่มีพัฒนาการเป็นศาสนาก็มี ประเด็นสำคัญคือถ้ามันพัฒนาการไปจนเกิดระบบจริยธรรมขึ้น มันก็จะกลายเป็นศาสนา เวลาพูดแบบนี้ เราจะเห็นว่ามันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน แม้กระทั่งในโลกตะวันตกหรือในสหรัฐอเมริกาก็มีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของศาสนาใหม่ๆ เริ่มมีมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นแทบจะไม่ค่อยมีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้น มีก็มีน้อยมาก ผมเข้าใจว่ามันสัมพันธ์อยู่กับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งย้อนกลับมาโหยหามิติที่ขาดไปด้านอารมณ์ความรู้สึก แล้วภาวะสงครามต่างๆ มันกระตุ้นเร้าให้เกิดศาสนามากขึ้น ตัวอย่างในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีศาสนาใหม่ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นหรือแม้กระทั่งในช่วงสงครามเอง ผมเข้าใจว่าการเกิดขึ้นของศาสนาในโลกยุคใหม่มีปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเป็นสมัยใหม่อยู่ด้วย
 
“สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนาในบ้านเรา ไม่รู้ว่ารัฐใช้ศาสนาหรือศาสนาใช้รัฐ ต่างฝ่ายต่างใช้กัน เมื่อเป็นแบบนี้ ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างศาสนากับรัฐจึงทำให้เกิดการดึง ไม่ว่าจะเป็นการดึงรัฐเข้ามารับใช้ศาสนาหรือรัฐดึงเอาศาสนามาเป็นพลังของรัฐ”

เวลาที่มีการจัดกลุ่มประเภทการไม่นับถือศาสนา มีการจัด Multi-Faiths หรือพหุศรัทธา เป็นการไม่นับถือศาสนาอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้จะนับเป็นศาสนาหรือเปล่า?
ผมเข้าใจว่า Multi-Faiths เป็นสิ่งใหม่เหมือนกันนะครับ เพราะปรากฏการณ์ของคนที่มีหลายศรัทธาหรือเลือกหยิบเอาจะบอกว่าฉันเป็นของใหม่หรือเปล่า ไม่รู้ แต่ฉันหยิบเอาของแต่ละศาสนามาเฉพาะส่วนที่ฉันต้องการ ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็เกิดในโลกยุคใหม่นะครับ ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งคนที่เป็นศาสนิกชนหรือแม้กระทั่งคนทั่วไป หลุดออกจากชุมชนทางศาสนาของตัวเอง เขาไม่อาจนิยามตนเองได้ว่าเป็นศาสนิกที่ตรงตามแบบเดิมของศาสนานั้นๆ อีกอย่างหนึ่งผมเข้าใจว่าการอยู่ในชุมชนศาสนา มันฟอร์มรูปของความเชื่อของคุณให้ชัด เพราะฉะนั้นคุณจะทำแบบนี้ คุณจะไม่ทำแบบนี้ แล้วก็มีกลไกชุมชนในการดูแลคุณ แต่พอคุณออกจากชุมชนแบบนั้น เช่นคุณเป็นปัจเจกชนเพิ่มมากขึ้น การเลือกมันเป็นของปัจเจกชน เวลาเป็นแบบนี้ คุณจะเลือกมาอย่างละนิด ไม่มีใครประณามคุณได้ เพราะคุณไม่ได้อยู่ในชุมชนศาสนาอีกต่อไป ไม่มีใครมาไล่คุณหรือมีใครมาฟอร์มรูปคุณ ผมก็เลยเข้าใจว่า Multi-Faiths ก็อาจเป็นรูปแบบของการถือศาสนาแบบใหม่ของคนสมัยใหม่ที่มีความเป็นปัจเจกขึ้นมากกว่า แต่จะบอกว่ามันกลายเป็นศาสนาอีกอย่างหนึ่งมั้ย จริงๆ มันก็เป็นมิติของการนับถือศาสนานั่นแหละครับ เพียงแต่มันมีความต่างกับการถือศาสนาแบบเดิม

แม้ว่าเราจะก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่แล้ว แต่ดูเหมือนศาสนายังคงเป็นเรื่องเปราะบางของผู้คนในยุคนี้มาก มีคนที่เอาตัวเองไปผูกพันกับศาสนามากเสียจนมีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตข้างหน้า ศาสนาจะเป็นชนวนความขัดแย้งที่สำคัญในระดับโลกและในประเทศไทย
แน่นอนครับในหลายชุมชน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่หนึ่งศาสนายังคงเป็นพลังในการชี้นำในสังคมและยังเสียงดังอยู่ อันนี้อาจจะต่างจากโลกตะวันตกในยุโรปบ้างที่ศาสนาเสียงเบาไปเยอะ เพราะหลังการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ศาสนาก็ค่อยๆ ลดอำนาจชี้นำทางสังคม แต่ว่าบ้านเรายังไม่ใช่ พอมันเป็นอย่างนี้ หนึ่งคือมันผูกพันกับอำนาจชี้นำ สอง-ศาสนายังมีมิติทางอารมณ์ความรู้สึกเข้มข้นอยู่ ผมเลยเข้าใจว่า สุดท้าย ปรากฏการณ์ของการที่คนจะเอาศาสนามาเป็นตัวขับดันเป้าหมายบางอย่างจึงมีมากขึ้นในปัจจุบัน คล้ายๆ พลังทางสังคมในหลายๆ สังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อย แต่ในสังคมโดยเฉพาะในเอเชียที่เราเห็น ศาสนาเป็นพลังบางอย่างที่คุณยังใช้ได้ แล้วปรากฏการณ์ที่คนฮึ่มๆ เรื่องศาสนามากขึ้น จนกระทั่งศาสนาจะกลายเป็นความขัดแย้งจึงยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ที่สำคัญ ผมคิดว่าศาสนา โดยเฉพาะในเอเชีย ยังมีลักษณะที่เป็นองค์กรรวมศูนย์อยู่ค่อนข้างมาก ขณะที่ศาสนาในโลกตะวันตกมีลักษณะกระจายออกไป ไม่ได้มีศูนย์กลางอำนาจแบบของเรา ด้วยความที่มีศูนย์กลางอำนาจรวมนี่แหละ จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมืออย่างดี ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือกลุ่มบุคคลก็ตาม

ความเปราะบางของชาวพุทธไทยบางกลุ่ม ขันติธรรมที่ลดลง และเริ่มมองเห็นแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างศาสนาในเมืองไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐไทย แม้จะไม่ได้ประกาศตนว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่โดยนัย โดยวัฒนธรรม มันเป็นอย่างนั้น การแยกรัฐออกจากศาสนาอย่างที่บางกลุ่มพยายามผลักดัน คุณคิดว่าจะเป็นหนทางหนึ่งหรือเปล่าที่จะลดความขัดแย้ง
ผมว่าเป็นครับ สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนาในบ้านเรา ไม่รู้ว่ารัฐใช้ศาสนาหรือศาสนาใช้รัฐ ต่างฝ่ายต่างใช้กัน เมื่อเป็นแบบนี้ ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างศาสนากับรัฐจึงทำให้เกิดการดึง ไม่ว่าจะเป็นการดึงรัฐเข้ามารับใช้ศาสนาหรือรัฐดึงเอาศาสนามาเป็นพลังของรัฐ เกิดขึ้นเสมอ ตัวอย่างที่เราเห็นในสังคมไทยที่บอกว่าฉันเป็นกลางนะ แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิพิเศษต่างๆ ในทางกฎหมายหรือทางวัฒนธรรมก็ยังเอื้อต่อบางกลุ่มศาสนาอยู่ แล้วอย่างน้อยที่สุด การแยกรัฐออกจากศาสนาก็ช่วยในแง่ของความสัมพันธ์ โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัด ว่าคุณไม่สามารถกระทำอย่างที่เคยทำได้แล้ว เพราะในทางกฎหมาย มันก็ยากที่รัฐหรือกลุ่มองค์กรทางศาสนาจะดึงแต่ละฝ่ายมาเป็นอำนาจของตัวเองเพื่อผลักดันประเด็นที่ตนเองต้องการ ผมคิดว่านี่เป็นทางออกหนึ่ง

แต่คงทำไม่ได้ในชั่วชีวิตคนรุ่นเรา
(หัวเราะ) ไม่แน่ใจครับ แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าสังคมไทยยังไม่สามารถก้าวไปสู่ความเป็นรัฐฆราวาสแบบฝรั่ง ผมเคยเสนอกับบางที่ เช่นกับคุณวิจักขณ์ พานิชและเคยสอนที่มหิดลว่า มีกรณีรัฐฆราวาสแบบอินเดียซึ่งไม่เหมือนกับตะวันตก ตะวันตกแยกรัฐออกจากศาสนาชัดเจน เคสสุดโต่งคือฝรั่งเศสที่คุณไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาในที่สาธารณะได้เลย ทีนี้ อินเดียคล้ายเราตรงที่เป็นประเทศในเอเชียและเป็นประเทศที่มีพลวัตรทางศาสนาสูง อินเดียคิดไม่เหมือนฝรั่ง รัฐฆราวาสในความหมายของอินเดียคือรัฐที่อุปถัมภ์ทุกศาสนาเท่ากันและมีระยะระหว่างศาสนา คือรัฐไม่ไปตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ถ้าคุณปฏิบัติกับศาสนาหนึ่งอย่างหนึ่ง คุณก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนกันทุกศาสนา

มันเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ?
ในอินเดียเป็นครับ แต่ว่าในอินเดียดีอย่างหนึ่งตรงที่องค์กรทางศาสนาของอินเดีย ไม่ว่าจะศาสนาไหน ไม่มีองค์กรส่วนกลางที่ขึ้นกับรัฐ ดังนั้น รัฐไม่มีหน่วยงานไหนที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมศาสนา แล้วนโยบายรัฐฆราวาสถูกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ คนก็สงสัยว่าปัจจุบันที่รัฐบาลเป็นพรรคบีเจพีซึ่งเป็นชาตินิยมฮินดู นโยบายนี้จะเปลี่ยนมั้ย ผมเข้าใจว่าโมดิ (นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย) ไม่กล้าทำ เพราะว่าในทางหนึ่งการเมืองภาคประชาชนโหดเพราะมีผลต่อการโหวต แล้วทำให้บางรัฐ ถ้าคุณเล่นเรื่องนี้ คุณแพ้เลือกตั้งแน่นอน พลังของประชาชนในแง่การเลือกตั้งจึงทำให้การที่รัฐพยายามเทคไซด์บางศาสนาจะถูกเพ่งเล็งจากประชาชนค่อนข้างมาก ผมว่ามันมีกลไกในระบบการเมืองอินเดียเองที่ช่วยให้เรื่องนี้...โอเคมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่มันก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

เข้าใจว่าฮินดูกับมุสลิมในอินเดียก็คงจะมีปัญหากัน จึงเกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้หรือที่รัฐบาลจะรักษาระยะห่างและปฏิบัติเหมือนกันกับทุกศาสนา
มันมีข้อเท็จจริงนะครับ ประการหนึ่งเรามักจะคิดว่าความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมมีค่อนข้างสูง เอาเข้าจริงๆ แล้วความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมในระดับชาวบ้านค่อนข้างน้อย ความขัดแย้งทุกครั้งที่เกิดขึ้นมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ เช่นกรณีสุเหร่าบาบรีที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โต ฆ่ากัน ชาวฮินดูก็อ้างว่าที่นั่นเป็นที่ประสูติของพระราม แต่ชาวมุสลิมสมัยกษัตริย์บาเบอร์ก็สร้างมัสยิดมาครอบ ถ้าไปดูในงานสำรวจจะพบว่าชาวบ้านไม่เคยมีปัญหากันเลยนะครับ มุสลิมก็ใช้ ฮินดูก็กันที่ส่วนหนึ่งสำหรับสวดมนต์ เขาอยู่ด้วยกันมาตลอด จนกระทั่งมีองค์กรหัวรุนแรงของฮินดูไปยกประเด็นนี้ขึ้นมาและทำแคมเปญจนกลายเป็นความขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นมันมีการเมืองเข้าไปยุ่งทุกครั้ง

อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เราพูดเรื่องรัฐฆราวาส แต่เราต้องไม่ลืมว่ารัฐจะเป็นรัฐฆราวาสที่มีประสิทธิภาพได้เมื่อเป็นประชาธิปไตย ในอินเดีย ถ้ารัฐบาลโมดิอยากจะแอบเชิดชูฮินดูขึ้นมาก็จะมีอีกเสียงดังขึ้นมาทันที แล้วก็เป็นเสียงที่ต้องฟังด้วย เพราะว่ามันมีมาก เราลองคิดเล่นๆ ก็ได้ ประชากรอินเดียเป็นฮินดูไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ก็ตกประมาณ 800-900 ล้านคน แต่อินเดียไม่เคยมีการประกาศให้ฮินดูเป็นศาสนาของรัฐเลย เป็นไปได้ยังไง แต่อินเดียยังคงความเป็นรัฐประชาธิปไตยและรัฐฆราวาสได้

ว่ากันว่าไม่จริงหรอกที่จะพูดว่าขันติธรรมของชาวพุทธไทยลดลง แต่มันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกศาสนาและทั่วทั้งโลก
ผมคิดว่าการมีกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาที่เรียกว่า Fundamentalism มีมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ผมเข้าใจว่ามันอยู่ในระยะก่อตัวขึ้นมาเป็นขบวนการ ก่อนหน้านี้องค์กรที่มีความคิดแบบนี้ยังไม่ได้มีพลังขนาดนี้ แต่ปัจจุบันองค์กรที่มีแนวคิดแบบ Fundamentalism มีพลังค่อนข้างมากเพราะอาจได้การสนับสนุนจากรัฐหรือกลุ่มทุน เราจึงเห็นปรากฏการณ์การก่อการร้าย การใช้ความรุนแรงในนามของศาสนาเพิ่มขึ้น ก็เลยเข้าใจได้ว่า อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่กลุ่มเหล่านี้มีเสียงดังขึ้น อีกอย่าง บางกลุ่มก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มันก็เลยเป็นสิ่งที่เห็นกันทั่วโลก

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเห็นในบ้านเรา ถ้าเราวิเคราะห์เฉพาะบ้านเรา มันก็มีมานานแล้วแหละ เพียงแต่ว่ามันมีความพยายามอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในรัฐยุคใหม่ คือตอนนี้โลกกำลังจะกลายเป็นโลกหนึ่งเดียว คุณเริ่มสื่อสารกันอย่างหลากหลาย มันมีภาวะของการกลัวการสูญสิ้นอัตลักษณ์ของตน แล้วมันเป็นความกลัวที่ถูกปลูกฝังมาในมิติทางประวัติศาสตร์ด้วย มันตอกย้ำบางเรื่องในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความกลัวการสูญสิ้นอัตลักษณ์ของตนเอง ขบวนการเหล่านี้จึงได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากคนที่นิยมการมีอัตลักษณ์ เช่น ความเป็นไทย เป็นต้น มันจึงยิ่งกลายเป็นประเด็นมากขึ้นในปัจจุบัน

ในสายตาของคุณคิดว่าขันติธรรมของชาวพุทธไทยลดลงหรือเปล่า โดยเฉพาะต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม
ผมว่าในภาพรวม คือคงไม่ได้กล่าวเหมารวมชาวพุทธทั้งหมด แต่ว่าโดยภาพที่ปรากฏจากสื่อ ลดลง และมีแนวโน้มลดลง เช่นกรณีที่มีบางกลุ่มองค์กรออกตัวชัดเจน พระภิกษุบางรูป หรือแม้กระทั่งบางจังหวัดที่ต่อต้านการก่อสร้างศาสนาสถานของศาสนาอื่น

ที่เราพูดว่าขันติธรรมลดลง หรือจริงๆ แล้ว มันก็เป็นอย่างนี้มาตลอด เพราะศาสนาต่างก็ฟาดฟันกันมาตลอดประวัติศาสตร์อยู่แล้ว
มันมีช่วงเวลาขึ้นๆ ลงๆ แต่แน่นอนมันใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดตอนนี้หรอก แต่มันถูกทำให้ชัดเจนขึ้นโดยสื่อ ทั้งออนไลน์และสื่อกระแสหลัก เราจึงเห็นภาพนี้ค่อนข้างชัด แต่ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนามีลักษณะแบบนี้อยู่มั้ย ผมเข้าใจว่ามีอยู่แล้ว โดยเฉพาะพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถ้าเราย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในลังกา สิ่งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในลังการย้ำเสมอคือความเป็นสิงหลกับความเป็นลังกาเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าคุณไปอ่านคัมภีร์มหาวงศ์ ทีปวงศ์ จะเห็นเลยว่าตัวร้ายในเรื่องคือกษัตริย์ฮินดู ทมิฬ แล้วก็เข่นฆ่าชาวพุทธ ก็ต้องมีกษัตริย์ชาวพุทธไปฆ่าบ้าง แล้วพระอรหันต์ก็บอกว่าไม่บาปหรอก เพราะพวกไม่ถือพระรัตนไตรก็เป็นคนครึ่งเดียว คำพูดนี้มันคุ้นๆ นี่เป็นประวัติศาสตร์โบราณการก่อตั้งประเทศศรีลังกาก็มีตำนานแบบนี้ ยังไม่ต้องนับนักวิชาการชาวพุทธเราที่พยายามไปดึงการสูญสิ้นพุทธศาสนาในอินเดียมาเล่าซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อจะบอกว่าเราต้องระวังศัตรูข้างนอก เพราะฉะนั้นจริงๆ ความระแวงศัตรูข้างนอกมีมานานแล้ว เพียงแต่ผมเข้าใจว่าในวิถีชาวบ้านมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันเป็นเรื่องของรัฐ เรื่องอำนาจการเมือง เรื่องปัญหาที่ถูกดึงขึ้นมาเพื่ออุดมการณ์บางอย่างเท่านั้นเอง
 
“มันมีภาวะของการกลัวการสูญสิ้นอัตลักษณ์ของตน แล้วมันเป็นความกลัวที่ถูกปลูกฝังมาในมิติทางประวัติศาสตร์ด้วย มันตอกย้ำบางเรื่องในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความกลัวการสูญสิ้นอัตลักษณ์ของตนเอง ขบวนการเหล่านี้จึงได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากคนที่นิยมการมีอัตลักษณ์ เช่น ความเป็นไทย เป็นต้น”

เช่นในสังคมไทยที่พยายามผูกรัฐชาติกับศาสนาพุทธเป็นสิ่งเดียวกัน?
ใช่ ความพยายามเช่นนี้เคยมีในรัฐไทยมั้ย ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งจริงๆ ถ้าเรามองจากมิติประวัติศาสตร์ไกลๆ แต่เดิมเราก็ไม่ได้เป็นเถรวาท ก่อนสมัยสุโขทัย โบราณวัตถุก็ชี้ให้เห็นชัดว่าเราไม่ได้เป็นเถรวาท วันหนึ่งเรารับอุดมการณ์เถรวาทมา นักวิชาการหลายท่านก็บอกว่าเป็นเรื่องการเมืองที่เราต้องการสลัดจากอำนาจของขอม ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่อย่างน้อยอุดมการณ์เถรวาทกลายเป็นอุดมการณ์เดียวกับรัฐมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วมันก็ผูกพันกับรัฐ พอเกิดรัฐสมัยใหม่ซึ่งไม่ใช่ราชาธิปไตยแล้ว รัฐแบบใหม่ก็ยังต้องทำหน้าที่แบบเดิมอยู่ ความเป็นศาสนากับรัฐจึงผูกพันกันจนแยกไม่ออก คือเน้นว่าอย่างนี้ได้มั้ยครับ น่าแปลกว่าพุทธศาสนาพวกที่เป็นมหายานกลับไม่ค่อยมีมิติแบบนี้ เราอาจจะต้องกลับมาสำรวจอย่างจริงจังว่า มีอะไรในพุทธศาสนาที่เรามีอยู่ แล้วถูกดึงให้กลายเป็นอำนาจของกลุ่มบางกลุ่มหรือของรัฐไปได้

การเป็นชาวฮินดูในรัฐไทยที่เป็นรัฐพุทธศาสนา ในสภาวะที่ขันติธรรมลดลง ทำให้ต้องพบเจอปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า?
ฮินดูที่เข้ามาในสังคมไทยปรับตัวเยอะมาก ตั้งแต่โบราณมา ฮินดูเข้ามาสองระลอก ถ้าเราจะแยก ก็คือระลอกเก่าที่เข้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วกลายเป็นวัฒนธรรมไทย เช่น พราหมณ์ในราชสำนัก พวกนั้นเขากลืนกลายเป็นไทยจนหมด ไม่มีปัญหาเลย แต่อินเดียมาใหม่ที่เพิ่งเข้ามาช่วงหลังรัชกาลที่ 5 มันเอาอัตลักษณ์แบบอินเดียมาด้วย ในทางเชื้อชาติก็เป็นอินเดีย ครูบาอาจารย์ผมนี่เป็นชาวอินเดียหมดเลยนะครับ แล้วลักษณะภายนอกก็ยังมีอัตลักษณ์แบบอินเดีย อันนี้ลำบากเมื่อเขาเข้ามาในสังคมไทย ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามปรับตัวในรอบเป็นร้อยปีที่ผ่านมาคือหนึ่ง-การประนีประนอมกับพุทธศาสนา ดังนั้น เราจะเห็นว่าวัดฮินดูในไทยก็ตั้งผ้าป่า มีกฐินหลวงทุกปี ทำนุบำรุงพุทธศาสนา ถ้าไปวัดฮินดูในประเทศไทยก็จะมีพระพุทธรูปทุกวัด เป็นลักษณะของการพยายามประนีประนอมกับพุทธศาสนาซึ่งเป็นเจ้าถิ่น แล้วก็ให้การต้อนรับ ให้ความเคารพพระอย่างดี ถ้าไปอินเดียจะไม่เป็นอย่างนี้ พราหมณ์ในไทยจะให้ความเคารพพระมาก เหมือนกับคนไทย ผมเข้าใจว่านี่เป็นความพยายามที่จะประนีประนอมทางศาสนา สอง-พยายามประนีประนอมกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานทางศาสนา อย่างนี้แหละครับ ความเป็นฮินดูจึงอยู่ได้ คือถ้าคุณเป็นฮินดูอนุรักษ์นิยมที่โจมตีพุทธ คุณอยู่ในเมืองไทยไม่ได้

ตัวผมเมื่อไปสังกัดหรืออยู่ในชุมชนแบบนั้น ตั้งแต่แรกเลย ครูบาอาจารย์ผมก็จะบอกว่าคุณไปทำบุญได้แบบเดิม ทำพิธีกรรมที่เคยทำสมัยก่อนได้ ไม่มีปัญหา ในด้านหนึ่งนอกจากเป็นการประนีประนอมก็เป็นความใจกว้างของศาสนาฮินดูเดิมอยู่แล้วที่มองว่าพุทธก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ขัดกับระบบฮินดู แต่ว่าในทางหนึ่งผมก็มองว่าเป็นการประนีประนอมในทางการปฏิบัติด้วย ทั้งคนฮินดูก็เป็นคนส่วนน้อยที่ได้รับการปฏิบัติอีกแบบหนึ่งอยู่แล้ว แต่เขาพยายามมองหาที่ทางและความสัมพันธ์ที่เขาสามารถอยู่ได้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ลำบากเหมือนกัน

คำว่าลำบากในที่นี้หมายถึงอะไร เป็นความอึดอัดใจหรือว่าการถูกเลือกปฏิบัติ
ผมคิดว่า โอเค เผอิญโชคดีที่เป็นฮินดูไงฮะ คือพราหมณ์หรือฮินดูมันใกล้พุทธศาสนามาก และคนไทยเองก็มีระบบศาสนาแบบไทยคือพุทธ พราหมณ์ ผี ฮินดูจึงไม่ถูกมองว่าเป็นศาสนาอื่น เป็นเคสที่ต่างกับมุสลิม อีกอย่างหนึ่ง ฮินดูหรือพราหม์แบบเดิมมันซิงค์เข้าไปในวัฒนธรรมไทยแล้ว ไม่มีปัญหา แบบใหม่ที่มีปัญหาคือแบบอินเดีย แต่หลังๆ คนไทยเริ่มสนับสนุนศาสนาฮินดูมากขึ้นในแง่ความเชื่อ จึงยิ่งมีที่ทางมากขึ้นด้วย แต่แรกๆ ผมเข้าใจว่าก็ยังเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ดี ดังนั้น สิทธิทางศาสนาก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ยังได้รับการปฏิบัติอย่างดีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาแบบไทยอยู่แล้ว

สังคมที่เปิดแบบประชาธิปไตยจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมขันติธรรมระหว่างศาสนา?
คมกฤช: ผมคิดว่าประชาธิปไตยเป็นทางออก เพราะโดยแนวคิดพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อระบอบประชาธิปไตยนะ มันเชื่อว่าคนเท่ากัน มันปฏิเสธระบบอภิสิทธิ์บางอย่างอยู่แล้ว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ระบบอภิสิทธิ์หรือระบบของรัฐเอื้ออำนวยต่อบางศาสนา ผมเชื่อว่านี่เป็นที่มาของความขัดแย้งทางศาสนา เมื่อก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยนอกจากมันยอมรับว่าคนเท่ากันแล้ว สิ่งที่มาพร้อมกันคือความเท่ากันของคน คุณต้องเคารพด้วย เพราะว่าคนไม่เหมือนกัน ประชาธิปไตยมีข้อบกพร่อง แต่มันมีข้อดีอยู่ประการหนึ่งคือคุณรู้ว่าโลกสมัยใหม่ คนไม่มีทางเหมือนกัน คนไม่เชื่อเหมือนกันได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องสร้างกรอบบางอย่างหรือฐานขึ้นมาเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้ นี่เป็นโจทย์เดียวกันเลยกับความแตกต่างทางศาสนา ระบอบประชาธิปไตยล้วนแต่มุ่งแสวงหาพื้นที่ที่ความแตกต่างนี้จะอยู่ร่วมกันได้

ประชาธิปไตยวางอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ศาสนาวางอยู่บนฐานของศรัทธา ประชาธิปไตยด่ากันได้ แต่กับศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์ยังเป็นสิ่งเปราะบางมาก คุณพูดเองว่าผู้คนแสวงหาอัตลักษณ์ที่จะยึดเกาะ แต่ขณะเดียวกันประชาธิปไตยสมัยใหม่กลับเป็นโลกที่อัตลักษณ์กระจัดกระจาย
ผมคิดอย่างนี้ ที่เราบอกว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่วิจารณ์กันได้ ด่ากันได้ แต่พอเป็นเรื่องศาสนาไม่ได้ มันมีความเปราะบางในเชิงความรู้สึกอยู่ ผมไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า แต่ในสังคมประชาธิปไตย ศาสนาก็ต้องเป็นเรื่องที่วิจารณ์ได้ เพียงแต่ปัญหาทุกวันนี้เวลาเราวิจารณ์ศาสนา มันมีอำนาจที่ไม่เท่ากันอยู่ เช่น ถ้าคุณวิจารณ์ศาสนา รัฐก็จะจัดการคุณ เพราะรัฐไม่ได้มีวิธีคิดว่าคุณพูดเรื่องนี้ได้ หรือแม้กระทั่งคนด้วยกันเองที่พร้อมจะตั้งกลุ่มไปกระทืบคุณ ตกลงปัญหาอยู่ที่การวิจารณ์ การพูด หรือเพราะว่ามันมีการเอาอำนาจไปใช้ในการวิจารณ์มากกว่า ผมเชื่อว่า ถ้าเราพัฒนาความคิดทางประชาธิปไตย แม้แต่เรื่องศาสนาก็ต้องวิจารณ์ได้ วิพากษ์ได้ แต่จะไม่มีอำนาจนอกระบบหรือในระบบเข้ามาจัดการคุณ ยกเว้นสิ่งที่คุณทำเริ่มละเมิดสิทธิคนอื่นหรือละเมิดกฎหมายในขั้นพื้นฐาน ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยมันไม่ถึงขั้นปล่อยให้บานทะโร่ไปเลยหรือว่าไร้ระเบียบชนิดที่ไม่มีอะไรเลย แต่ผมคิดว่ามันก็ยังมีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวคุมไว้ เพียงแต่มันจะป้องกันการใช้อำนาจนอกระบบและในระบบที่จะเข้ามากดคุณไว้หรือไม่ให้คุณพูด อาจจะต่างกันนิดเดียวเองนะฮะ ดังนั้น ถามว่าวันหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแล้วมีคนวิจารณ์ศาสนา คุณก็ต้องโดนกลับไง แต่โดนกลับในระบบเดียวกัน เช่น คุณก็โดนด่าเหมือนกัน มันก็แฟร์ แต่ถ้าเราคิดว่าเปราะบาง พูดไม่ได้ ฉันจะไปกระทืบแก มันก็ไม่ใช่

“ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ระบบอภิสิทธิ์หรือระบบของรัฐเอื้ออำนวยต่อบางศาสนา ผมเชื่อว่านี่เป็นที่มาของความขัดแย้งทางศาสนา”

การประกาศของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ให้ชาวพุทธเผามัสยิด หากมีพระสงฆ์ถูกสังหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นหมุดหมายบางอย่างที่ส่งสัญญาณไม่ดี คุณมองว่าเกิดอะไรขึ้นกับพุทธศาสนาไทย ทำไมเปราะบาง ทำไมจึงเกิดอาการกลัวอิสลาม
ผมคิดว่าอย่างนี้นะ ความกลัวอิสลามในชาวพุทธไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีคนพูดถึงประเด็นเหล่านี้ คือทุกครั้งที่มีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้มันมีเป้าหมายบางอย่างอยู่แล้ว เช่น ก่อนหน้าพระรูปนี้จะออกมาทำอะไร ก็มีความพยายามที่ใหญ่มากที่จะให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือความพยายามที่จะตั้ง พ.ร.บ.พิทักษ์พุทธศาสนาขึ้นมาโดยชาวพุทธหลายกลุ่มออกมาขานรับมาก ผมคิดว่าเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้พระอภิชาติออกมาทีหลัง ผมมองอย่างนี้ ในภาวะไม่ปกติของการเมืองในปัจจุบัน เป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มเหล่านี้จะเข้าไปผลักดันกฎหมายบางอย่าง น่าแปลกนะครับ ตอนที่เป็นรัฐปกติ เรื่องนี้จะไม่ค่อยดัง แต่พอมีภาวะพิเศษ เหมือนกับทางมันสะดวก ผมเข้าใจว่าความกลัวเหล่านี้ถูกปลูกฝังผ่านประวัติศาสตร์เถรวาทเอง คือในกรณีลังกา อย่างในคัมภีร์ทีปวงศ์หรือมหาวงศ์ คุณก็มีศัตรูภายนอกอยู่เสมอคือชาวทมิฬ ไม่ใช่มุสลิม พอเป็นสังคมไทย เราไม่ได้สู้กับกษัตริย์ทมิฬ ก็ต้องเป็นศัตรูข้างนอก

ทีนี้ กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรงให้เห็นกันบ่อยๆ โอเค เราคงต้องไปคุยอีกเรื่องหนึ่งว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งกระตุ้นเร้าที่จะพูดเรื่องเดิม แบบที่ลังกาเผชิญกับทมิฬ แบบเดียวกับที่พุทธศาสนาในอินเดียเผชิญ ผมว่าความกลัวมันเกิดขึ้นจากแบบนี้ มันมีประวัติศาสตร์บางอย่างที่คุณฉายซ้ำ นักวิชาการชาวพุทธจะฉายซ้ำ ระวังไว้นะๆ อินเดียเป็นอย่างนี้มาแล้ว ทั้งที่อินเดียเป็นต้นกำเนิดศาสนาพุทธ ระวังไว้นะ ศรีลังกายังต้องรบกับพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่เลย ดูพม่าข้างๆ สิ ระวังไว้นะ ผมว่าความกลัวนี้เกิดจากการตอกย้ำทางประวัติศาสตร์เป็นเบื้องต้น การตอกย้ำทางประวัติศาสตร์นี้มันตื้นเขินมากจนไม่ได้มองปัจจัยภายในของพุทธเอง อย่างเช่นในกรณีอินเดีย ไม่ได้ดูเลยว่าความเสื่อมของพุทธศาสนาอินเดียมีปัจจัยอื่นมั้ย นอกจากการเข้ามาของมุสลิม แต่มันง่ายกว่าที่จะบอกว่ามีใครสักคนกำลังทำลายพุทธศาสนา ฮินดูก็เคยตกเป็นเป้านะครับ สมัยหนึ่งก่อนหน้านี้ แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีก็เลยไม่มีปัญหาอีกต่อไป แต่มุสลิมต่างหากที่ถูกมองว่าเป็นคนอื่น ความเป็นคนอื่นของมุสลิมไม่ได้เป็นแค่เรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นความเป็นคนอื่นในแง่ชาติพันธุ์ด้วย กลายเป็นสองอย่างรวมกัน คุณไม่ได้เป็นคนไทยโดยเชื้อชาติ แถมคุณยังไม่ได้เป็นพุทธอีกต่างหาก ความกลัวนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทำไมชาวพุทธไทยไม่มีปัญหากับคริสต์หรือกับซิกข์
ผมเข้าใจว่า เนื่องจากชุมชนมุสลิมมีอัตลักษณ์ของตนเองชัด กรณีชาวคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาจากข้างนอกเหมือนกัน เมื่อเข้ามาอยู่ในสยาม แน่นอนว่าช่วงอยุธยามีปัญหากัน พวกบาทหลวงถูกโบยเพราะไม่เอาคนไปเข้าขบวนพิธี แต่ว่าคริสต์ในระยะหลัง ตั้งแต่สมเด็จพระสันตปาปาหลายองค์ที่แล้วมีนโยบายว่า ต้องกลมกลืนกับพื้นเมือง เพราะฉะนั้นชาวคริสต์จึงพยายามเลียนแบบความเป็นพื้นเมือง เช่น ตั้งโบสถ์ที่มีลักษณะเหมือนโบสถ์พุทธ ใช้คำแบบเดียวกับพุทธ เช่น สามเณร พระสังฆราช เป็นต้น ลักษณะแบบนี้คือการกลืนกลายสลายอัตลักษณ์ไปเป็นแบบเดียวกัน ฉะนั้น ชาวคริสต์จึงไม่มีปัญหากับชาวพุทธ ชาวพุทธเคยมองว่าชาวคริสต์เป็นศัตรูมั้ย เคย เคยหมด ทุกศาสนา แต่เนื่องจากคริสต์สลายอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อเข้ากับความเป็นชุมชนพุทธ สอง-ชาวคริสต์ไม่ได้มีจำนวนมากพอจะตั้งชุมชนเป็นของตนเองอย่างเป็นเอกเทศเหมือนชาวมุสลิม ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่รัฐระแวง คือเมื่อใดที่มีคนจำนวนมากจนกระทั่งคุณตั้งชุมชนของตัวเอง แล้วไม่ยอมกับอัตลักษณ์ของรัฐ มันจะถูกเพ่งเล็ง ในขณะที่คริสต์และซิกข์ไม่เป็น

ซิกข์ในเมืองไทยเองก็ยอมกลืนกลายกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพุทธ เช่น ชาวซิกข์ใส่บาตรนะครับ เขาไม่รังเกียจที่จะไปร่วมศาสนพิธีของพุทธนะฮะ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นปัญหาของเขา ขณะที่มุสลิมต่างหากที่ยืนยันอัตลักษณ์ตนเองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะยุคหลัง เราอาจจะนึกถึงมุสลิมหลายสิบปีก่อนยังพอมีการกระจายของอัตลักษณ์ แต่มุสลิมยุคหลังที่ได้รับการศึกษาจากตะวันออกกลาง เขายืนยันความเป็นมุสลิม แม้กระทั่งยอมทำลายความเป็นมุสลิมเดิมของตนเองที่มันดูเป็นพื้นบ้าน แล้วนอกจากนั้น เขามีจำนวนมาก กระจุกตัวกันเป็นกลุ่ม เพราะฉะนั้นจึงสามารถถูกมองจากรัฐหรือชุมชนอื่นได้ว่าเป็นชุมชนที่น่ากลัว

ในอีกมิติหนึ่ง ชาวมุสลิมก็ไม่ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ แต่เลือกที่จะกอดอัตลักษณ์ตนเองไว้อย่างแน่นหนา
อันนี้เป็นปัญหาทางศาสนวิทยา เวลาพูดถึงศาสนากับการเผชิญโลกสมัยใหม่ คำถามจะไปตกที่ศาสนาอิสลาม ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า สุดท้าย ในบรรดาศาสนาในโลกนี้ ศาสนาไหนบ้างที่ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะของโลกสมัยใหม่ เช่น ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เพศทางเลือก ตกลงมีศาสนาไหนมั้ยที่จะมีปัญหาเวลาพูดถึงโลกสมัยใหม่ ซึ่งแน่นอนมุสลิมต้องเผชิญความท้าทายนี้ แต่นักวิชาการมุสลิมก็ยังไม่พูดอะไร แน่นอนมีมุสลิมสายกลางที่พยายามจะบอกว่าก็ปรับตัวได้อยู่นะ แต่มุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมก็เลยเข้าใจว่า อันนี้เป็นปัญหาของมุสลิมเองด้วย คือในทางหนึ่งเขาก็คงต้องกลับไปย้อนถามตัวเองว่าเขาจะสามารถเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร ยังไม่ต้องพูดถึงในเชิงรูปแบบนะครับ เช่น เขาจะยอมไม่ใส่ชุดแบบเขา หรือไม่ใช้วิถีชีวิตแบบเขากับคนอื่น อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในเชิงวิธีคิด เขาจะมีปัญหามั้ยเมื่อเผชิญกับโลกสมัยใหม่ อันนี้เป็นปัญหาของมุสลิมเอง ผมก็ยอมรับ

แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวอย่าง เช่นมุสลิมในบางประเทศหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นมุสลิมบางส่วนในอินโดนีเซีย ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ ก็มีการปรับตัวเข้ากับความเป็นพื้นบ้าน ยกเว้นอาเจะห์ หรือมุสลิมในอินเดียก็มี หรือมุสลิมไทยเราเองในยุคก่อนก็ยังมีอะไรที่ผสมผสานกับความเป็นพื้นบ้านได้ดีอยู่ เพียงแต่มันเกิดการนำความรู้แบบตะวันออกกลางที่เป็นมุสลิมจัดเข้ามา แล้วทำให้อัตลักษณ์มุสลิมโดดเด่นขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้

โดยธรรมชาติของศาสนา มันสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ อยู่แล้ว เพราะถ้าคุณไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับฉัน คุณก็ต้องเป็นคนศาสนาอื่น คุณคิดว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งปมของศาสนาที่แกะไม่ออกในโลกสมัยใหม่หรือเปล่า
ตอนนี้นะครับ ผมเข้าใจว่านักการศาสนา โดยเฉพาะนักการศาสนาที่เน้นสันติวิธีก็พยายามสลายพรมแดนอันนี้ คือแน่นอน ศาสนามันทำให้คนเป็นอื่น อันนี้ผมก็ยอมรับ เพราะอย่างที่บอกศาสนาไม่ใช่แค่เรื่องของความเชื่อ มันเป็นแพ็กเกจในการมองโลกและชีวิตซึ่งมันก่อรูปอัตลักษณ์ของคุณ แน่นอนว่าพอมันก่อรูปอัตลักษณ์ คุณก็ต่างจากคนอื่นอยู่แล้ว แต่มันมีระดับของมันอยู่ หรือแม้กระทั่งพรมแดนระหว่างเรากับคนอื่น สมัยก่อนมันพร่าเลือนนะพรมแดนนี้ กลับไปกลับมาได้ แต่ปัจจุบันนี้ น่าสังเกตว่าพรมแดนของการเป็นคนอื่นถูกทำให้หนาและแข็งตัวขึ้นด้วยปัจจัยทั้งหลายที่เราคุยกันไปแล้ว พรมแดนนี้มันถูกขับเน้น แทนที่คุณจะพยายามทำให้มันเบาๆ ลงในโลกสมัยใหม่ แต่คุณกลับยิ่งไปเน้นมัน ยิ่งไปทำให้มันหนาและแข็งตัวมากขึ้น และนี่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้

ทีนี้ มีนักการศาสนาหลายคนเสนอว่า พูดแบบนี้เราก็ควรไม่มีศาสนาเลยมั้ย โลกจะได้สันติสักที นั่นก็เป็นแนวคิดแบบหนึ่ง แต่ก็มีนักการศาสนาที่เห็นคุณค่าทางศาสนาและบอกว่า มันควรเปลี่ยนจากคำว่า ศาสนา ไปเป็นคำว่า Spirituality คุณเป็นคนปฏิบัติทางจิตวิญญาณ แล้วคุณไม่เอาอัตลักษณ์หรือฉลากของคุณมาแปะคุณเองและคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลามองศาสนาในแง่ที่เป็น Way ของ Spirituality มันคุยกับคนอื่นได้มากขึ้น เพราะคุณจะไม่หยิบเอาอัตลักษณ์ในเชิงรูปแบบไปฟาดเขา ผมคิดว่าวิธีการมองศาสนาใหม่ควรจะเป็นแบบนี้ เคลื่อนย้ายจากความเป็นศาสนาไปสู่ Way ของ Spirituality พอ

คือถ้าพูดในเชิง Spirituality ผมเข้าใจว่ามันจะไม่เกิดปัญหาในเชิงระดับ ปัญหาอย่างหนึ่งของความเป็นศาสนาคือเรามักจะวาง Position ของสิ่งที่เราเชื่อไว้สูงกว่าสิ่งที่คนอื่นเชื่อ อันนี้เป็นปัญหา แล้วมันก็ตรงกับการไม่เคารพคนอื่น ทีนี้ถ้าคุณมองว่ามันเป็น Way ของ Spirituality ปุ๊บ คุณก็จะพยายามไม่เอาคุณค่าแบบนี้เข้าไปใส่ มันก็เป็น Spirituality แบบอื่น และเราก็เรียนรู้เขาได้ เขาก็เรียนรู้เราได้ ผมคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นทางที่ทำให้ศาสนาในโลกยุคใหม่คุยกับชาวบ้านเขาได้ คนที่เป็น Atheist หรือ Irreligion ก็อาจจะฟังด้วยกันได้ด้วย ก็โอเคยูมี Spirituality แบบนี้ไง เป็น Way ของชีวิต แล้วยูไม่มองความเชื่อของตัวเองว่าเป็นความจริงสูงสุดแล้วคนอื่นผิดหมด ปัญหาของศาสนาจริงๆ คือมองว่าตัวเองเป็นความจริงสูงสุด แล้วคนในศาสนาก็ดันเชื่อว่ามันเป็นความจริงสูงสุด ใครที่เถียงถือว่าผิดหมด ผมว่าแบบนี้ใช้ไม่ได้ในโลกปัจจุบันอีกต่อไป

แต่ศาสนาเองก็มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง
ใช่ จริงๆ  ศาสนาก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วยครับ เอาเข้าจริงๆ ศาสนาจะมีรูปแบบแบบไหน มันก็ถูกฟอร์มในวัฒนธรรมนั้นๆ แต่ว่ามีศาสนาที่เปิดกว้างมั้ย ผมนึกถึงองค์ทะไล ลามะ แล้วก็พุทธศาสนาแบบทิเบตซึ่งเปิดกว้างมากหรือเซ็น ปัจจุบันคณาจารย์ชาวพุทธแบบทิเบตหลายรูปที่พูดว่า คุณไม่ต้องเปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธเพื่อปฏิบัติธรรม คุณก็เป็นคนแบบที่คุณเป็น แล้วคุณก็ปฏิบัติธรรมใน Way ที่คุณเป็น เพราะว่าพุทธศาสนามันไม่ใช่ของชาวพุทธ เราได้ยินอย่างนี้จากพระในพุทธศาสนาได้ แต่เราจะไม่มีวันได้ยินแบบนี้จากพระในบ้านเรา
“พระบ้านเรามองว่าพุทธศาสนาเป็นของชาวพุทธและเป็นสมบัติของชาติ พอมันเป็นสมบัติของชาติปุ๊บ มันก็เป็นของชาติเรา เราก็ต้องพิทักษ์ รักษา หวงแหน ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ประกาศศาสนาให้ชาติใดชาติหนึ่ง แต่มันเป็น Way ของคนที่ทดลองชีวิตและพูดถึงมนุษย์ทุกคน”

ทำไมเราถึงจะไม่ได้ยินสิ่งเหล่านี้จากพระสงฆ์ในบ้านเรา
เพราะพระบ้านเรามองว่าพุทธศาสนาเป็นของชาวพุทธและเป็นสมบัติของชาติ พอมันเป็นสมบัติของชาติปุ๊บ มันก็เป็นของชาติเรา เราก็ต้องพิทักษ์ รักษา หวงแหน ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ประกาศศาสนาให้ชาติใดชาติหนึ่ง แต่มันเป็น Way ของคนที่ทดลองชีวิตและพูดถึงมนุษย์ทุกคน สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่กลับมาตระหนักในความเป็นมนุษย์ เราจะไม่สามารถเป็นศาสนิกที่ดีได้เลย คือสุดท้าย ถ้าศาสนาไม่วนกลับมาเป็นมนุษยนิยม ไม่กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ คุณก็จะไม่สามารถคุยอะไรกับใครในโลกสมัยใหม่ได้เลย ผมพูดได้เลยนะครับ เพราะสุดท้ายสิ่งที่สำคัญกว่าศาสนา สำคัญกว่าอุดมการณ์คือความเป็นมนุษย์ ซึ่งเราก็ลืมไปหมดแล้ว ฉันยอมตายเพื่อศาสนา ฉันยอมตายเพื่อชาติ แต่ฉันไม่ได้คิดเลยว่าฉันกำลังเข่นฆ่ามนุษย์อยู่ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราลืมไป

พระสงฆ์ไทยยังต่อต้านการบวชภิกษุณีด้วยซ้ำ ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะช่วยในการเผยแผ่พุทธศาสนา
ผมคิดว่าระบบการศึกษาของพระไทยมีปัญหา ไม่ได้แปลว่าการเรียนของพระไม่ได้มาตรฐานนะครับ เพียงแต่ว่าภายใต้ระบบการเรียนของท่านมันมีการแฝงฝังความเชื่อ ความคิดอะไรบางอย่าง เช่น พุทธศาสนาดีที่สุด และไอ้แบบที่ดีที่สุดคือแบบเรานี่แหละ ผมเข้าใจว่ามันมีลักษณะการปลูกฝัง โอเค อาจจะไม่ใช่การศึกษาโดยตรง แต่บริบทแวดล้อมพระทำให้พระหลายๆ รูปคิดแบบนี้ เถรวาทดีที่สุด ดั้งเดิมที่สุด คัมภีร์เถรวาทเก่าแก่ที่สุด ตรงกับพระพุทธเจ้าดีที่สุด พอคิดแบบนี้ปุ๊บ วิถีที่คนอื่นเป็น ผิดหมด อะไรที่ขัดกับคัมภีร์ ผิดหมด เพราะฉะนั้นแม้กระทั่งเรื่องภิกษุณี คัมภีร์บอกว่าหายไปแล้วนี่ มีได้ยังไง ต่อให้พระที่เป็นกลางๆ ไม่ได้มีอคติทางเพศหรือไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ คือแน่นอนบางทีคนที่ต่อต้านก็อาจมีเรื่องผลประโยชน์หรือมีอคติทางเพศ แต่ว่าคนที่ใจซื่อก็ยังมีความคิดแบบนี้ว่า การมีภิกษุณีมันไม่เถรวาท เพราะภิกษุณีหมดไปแล้ว การตีความคัมภีร์แบบเคร่งครัดตายตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มพระบ้านเรา และทำให้พระบ้านเราไม่สามารถหลุดออกจากกรอบนี้ไปสู่วิธีคิดแบบอื่นได้ เวลาพระพูดเรื่องปัญหาสังคม พระก็จะพูดในกรอบเดิมๆ เหมือนขึ้นธรรมาสนเทศน์ เวลาพูดถึงปัญหาทางศาสนา พุทธศาสนาก็จะเป็นคำตอบอยู่เสมอ ทั้งที่มีคำตอบอื่นได้ แต่พระไม่เชื่อว่าจะมีอะไรประเสริฐไปกว่านี้แล้ว
ศาสนาอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนฆ่ากัน แต่มันมีเรื่องการเมืองเข้ามาด้วยเสมอๆ และเป็นตัวที่ทำให้คนฆ่ากัน
ถามว่าศาสนามีโอกาสเป็นสิ่งที่บ่มเพาะความรุนแรงได้มั้ย มี โดยตัวศาสนาเองมันมีช่องทางที่จะตีความคำสอนอย่างตามตัวอักษรและตายตัว ซึ่งเป็นช่องที่จะทำให้เกิดความรุนแรง แต่ความรุนแรงที่ว่านั้นจะไม่ปะทุรุนแรงถ้ามันไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง แต่ถามว่าศาสนาไหนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้าง ไม่มี เพียงแต่ว่ามันจะไปเกี่ยวในมิติไหนมากกว่า ในทางหนึ่งผมก็ไม่หวังเหมือนหลายคนที่เป็นศาสนิกหวังว่าศาสนาจะต้องปลอดการเมือง มันเป็นไปไม่ได้ครับที่ในโลกปัจจุบันหรือในโลกสมัยใหม่จะมีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของการปันทรัพยากรและพื้นที่ การแสดงออก สถานภาพ ผมไม่เชื่อเลยว่าจะมีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองได้ เพียงแต่มันจะเกี่ยวกันในแง่ไหน เช่น เกี่ยวกันในแง่ของความรุนแรงหรือสนับสนุนความรุนแรง ผมว่าผิดแล้ว แต่ถ้าไปเกี่ยวกับการเมืองในเชิงที่สามารถเบรกความรุนแรงหรือชะลอความรุนแรงของสังคมได้ ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ศาสนาควรเป็น ซึ่งศาสนาจะเล่นบทบาทนี้มั้ย ต้องถาม ถามว่ามันมีประวัติศาสตร์มั้ยที่ศาสนาเข้าไปส่งเสริมความรุนแรง มี หรือเอารัฐเข้ามาส่งเสริมความรุนแรงในนามของศาสนา ก็มี แต่มีมั้ยที่ศาสนาเข้าไปเบรกความรุนแรง ก็มีเหมือนกัน มันขึ้นกับว่าเราจะผลักดันการเกี่ยวข้องกับศาสนาไปในทิศทางไหน
“สุดท้าย ถ้าศาสนาไม่วนกลับมาเป็นมนุษยนิยม ไม่กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ คุณก็จะไม่สามารถคุยอะไรกับใครในโลกสมัยใหม่ได้เลย”
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุเรื่องศาสนาไว้ในมาตรา 67 ที่ให้เป็นหน้าที่รัฐในการปกป้องคุ้มครองศาสนาพุทธและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อีกทั้งยังจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นศาสนาพุทธเถรวาท คุณคิดว่านี่จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตหรือไม่
ผมเข้าใจว่าก่อนหน้านี้มีกรรมการบางคนปัดตกว่าจะไม่เขียนให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คิดว่าจะไม่มีอะไร แต่สุดท้ายอย่างบางมาตราที่มีการพูด... เพื่อนๆ ผมที่เป็นชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ฮึ่มแล้วนะครับ เพราะเวลาบอกว่าพุทธศาสนาเถรวาท คุณลืมไปหรือเปล่าว่าในสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้มีแต่พุทธเถรวาทอีกต่อไปแล้ว พุทธศาสนาฝ่ายมหายานไม่ได้มีแต่พระสงฆ์จีนกับญวนเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นชุมชนพระและฆราวาสจำนวนมากที่นับถือนิกายอื่น หรือแม้กระทั่งพุทธทางเลือกที่เป็นหมู่บ้านพลัม พุทธที่เป็นวัชรยานสายต่างๆ เติบโตขึ้นมาในสังคมไทยแล้ว บางอันนอกกระแส แต่บางอันก็อยู่กับรัฐ เช่น จีนนิกาย อันนัมนิกาย คุณจะปฏิเสธเขาเหล่านั้นได้ยังไง อันนี้เป็นข้อสังเกตจากเพื่อนชาวพุทธของผม แต่โอเคข้อสังเกตนี้ก็ยังอยู่บนฐานที่ว่า คุณก็ตัดคำว่าเถรวาทออก

คำถามที่ตามมาอีกคือ เฮ้ย คุณต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยไม่ได้มีแต่พุทธศาสนา คุณไม่ได้เป็นรัฐศาสนาด้วยซ้ำ ฉะนั้น เวลาที่มีกฎหมายที่ออกตัวส่งเสริมแค่บางศาสนา แน่นอน คำถามเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันของศาสนาอื่นอยู่ตรงไหน บางคนอาจจะบอกว่าก็เขียนไว้เฉยๆ ไง แต่ผมว่าอันนี้ไม่ใช่เฉยๆ แล้ว มันยิ่งกว่าการกำหนดให้เป็นศาสนาประจำชาติอีก เพราะนี่ไปพูดถึงระบบและกลไก มันเปิดช่องทางให้คุณต้องตั้งหน่วยงาน ตั้งกฎหมายลูก ตั้งกติกาบางอย่าง เพื่อมาสนับสนุนกติกาที่คุณเขียนไว้ อันนี้จะน่ากลัวกว่าแค่การกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผมว่าอันนี้เป็นการเลี่ยงบาลีที่ชัดและเห็นภาพในทางปฏิบัติเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งผมคิดว่าอันตราย

ตอนนี้เท่าที่ผมสังเกตศาสนิกต่างศาสนา เขาสงวนท่าที เพราะเวลาเขาพูดเรื่องนี้ เขาก็จะโดนด่ากลับมาว่ามันเป็นเรื่องภายในของพุทธศาสนา แต่การสงวนท่าทีไม่ได้แปลว่าเขาพอใจหรือเขาพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะฮึ่มๆ แน่นอน กลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้มีลักษณะของการจัดตั้งองค์กร เช่น ศาสนาฮินดู หรือศาสนาที่ไม่มีองค์กรปฏิบัติการ เขาก็อาจจะไม่ได้อะไรมาก แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ชาวมุสลิมเป็นประชากรจำนวนมากในสังคมไทย แล้วชาวมุสลิมก็มีความหลากหลายในกลุ่มของเขาเองด้วย กลุ่มขวาจัดก็มี ซ้ายจัดก็มี นิยมความรุนแรงก็มี อันนี้ต้องระวัง ถ้ารัฐไม่ได้คิดเรื่องนี้ แล้วออกกฎหมายที่เอื้อหรือแสดงให้เห็นชัดว่าเอื้อต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่ง คุณอาจะต้องเผชิญความท้าทายจากศาสนาอื่น และสองคุณจะเผชิญความท้าทายภายในศาสนาเอง ซึ่งมีคนที่คิดแบบอื่นด้วย ผมก็แน่ใจว่าชาวพุทธไม่ได้คิดแบบนี้ทั้งหมด ยังมีพุทธอีกหลากหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้หรือท่าทีแบบนี้ และกลุ่มคนเหล่านี้ก็พร้อมจะออกมาแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งประเด็นนี้ด้วย

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top