0
2016-02-16_063344xxv
นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปัญหาของยักษ์นอกตะเกียง
Posted: 26 Apr 2016 03:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
อาจารย์เกษียร เตชะพีระ นำเอาบทความในหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่งมาแชร์ในเฟซบุ๊กของท่าน อ่านแล้วน่าตกใจพอสมควร
บทความนั้นพูดถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่น่าจะเป็นตัวแทนของสองพรรคใหญ่ว่า เป็นผู้สมัครที่มีคนเกลียดมากที่สุด (คือเกินครึ่งของผลสำรวจของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส) แปลว่าคนที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปลายปีนี้ คือคนที่ชาวอเมริกันเกลียดน้อยกว่า ระหว่างคนน่าเกลียดสองคน
นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้แต่ประธานาธิบดีที่คนหมดความนิยม เช่นประธานาธิบดีคลินตันในการลงสมัครแข่งขันสมัยที่สอง ก็ไม่ได้มีคะแนนเกลียดสูงเท่านี
ผู้เขียนบทความ (Andrew O’Hehir) ชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากความล่มสลายของระบบพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งของสหรัฐ เช่นในการลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนพรรค ความเห็นของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีน้ำหนักน้อยกว่าความเห็นของขาใหญ่ในพรรค ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรค คือคนที่สามารถไปกันได้กับขาใหญ่ของพรรค มากกว่าคนที่พูดถึงปัญหาที่ประชาชนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของตน หรืออีกกรณีหนึ่งผู้เขียนบทความกล่าวว่า แท้จริงแล้วส่วนใหญ่ของคนอเมริกันที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้ลงทะเบียนกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น แต่เป็นผู้เลือกตั้ง “อิสระ” (ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์) นี่คือคะแนนตัดสินที่แท้จริง แต่เขาไม่ได้เลือกผู้สมัครของพรรคใด ได้แต่เลือกเอาผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในสองคนที่พรรคส่งเข้ามาเท่านั้น (หากพรรคส่งคนที่เขาเกลียดมาทั้งคู่ เขาก็ไม่ไปเลือกตั้งเท่านั้นเอง จบ)
และนี่คือเหตุผลที่ ขาใหญ่ของพรรคการเมืองต้องเลือกสนับสนุนคนที่เสียงอิสระพอจะรับได้ คนจืดๆ ย่อมปลอดภัยกว่าคนเข้มๆ เพราะแม้ว่าคนเข้มๆ อาจสร้างคนรักได้ แต่ก็ไม่มากไปกว่าสร้างศัตรูที่ต่อต้านคัดค้านนโยบายเข้มๆ อย่างเอาเป็นเอาตาย จึงต้องออกไปลงคะแนนให้แก่คู่แข่งของคนเข้มๆ แต่คนจืดๆ ถึงไม่มีติ่งเลย ก็ยังดี เพราะความไม่ศรัทธาไม่เป็นแรงกระตุ้นให้ลุกขึ้นไปโหวตให้ใครทั้งสิ้น ไม่ได้คะแนนเลย ยังดีกว่าเอาคะแนนไปให้คู่แข่ง
การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงการลงคะแนนให้แก่คนที่เราเกลียดน้อยหน่อยเท่านั้น ไม่มีความหมายทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นว่าเป็นธรรม และเป็นคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างใดทั้งสิ้น
(ในประเทศคอมมิวนิสต์ อาจมีผู้สมัครหลายคนแข่งขันกันให้ประชาชนเลือก แต่ไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใคร ก็ล้วนเป็นผู้สมัครของพรรคทั้งสิ้น … มันต่างอย่างไรกับการเลือกตั้ง “เสรี” ในสหรัฐ)
ผมอยากจะย้ำไว้ก่อนว่า ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการเมืองอเมริกัน ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลย ก็พอปรับเปลี่ยนได้อยู่ เช่นนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งประธานาธิบดีเดโมแครตผลักดันต่อเนื่องกันมา แม้ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่โอกาสที่นโยบายสาธารณะนี้จะถูกขับเคลื่อนจนเป็นผลมากขึ้นในภายหน้า ก็พอจะมองเห็นได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนที่เกิดจากการเมืองทำได้ในกรอบแคบๆ อันหนึ่งเท่านั้น มากกว่านี้เกิดขึ้นได้ยาก
มากกว่านี้คืออะไร
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจอเมริกันสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขึ้นทั้งอย่างรวดเร็ว และอย่างมาก คน 10% ระดับบนครอบครองทรัพย์สินและทำรายได้ต่อปีมากกว่าคน 10% ระดับล่างเป็นจำนวนหลายเท่าตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอาจไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกหลายด้าน รวมทั้งช่วยเร่งเร้าให้ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นดำรงอยู่ หรือยิ่งเลวร้ายลง
Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) ยกตัวอย่างการเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนของนักบริหารว่าเพิ่มขึ้นทั้งเร็วและมาก ในขณะที่ค่าแรงของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน โดยที่นักบริหารไม่ต้องพิสูจน์ผลิตภาพของตนเองด้วย เพราะถึงอย่างไร การวัดผลิตภาพของผู้บริหารในหน่วยงานเอกชนหนึ่งๆ ก็ทำได้ยากหรือทำแทบไม่ได้อยู่แล้ว (ในขณะที่วัดผลิตภาพของแรงงานได้ง่ายกว่า)
นี่คือเหตุผลที่ผู้สมัครอย่างเบอร์นี่ แซนเดอร์ส์ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นกว่าที่ใครคาดคิดมาก่อน เพราะเขาพูดถึงปัญหาระดับรากฐานของสังคม ที่คนทั่วไปรู้สึกมานานโดยพรรคการเมืองไม่เคยพูดถึง (หรืออย่างน้อยก็ไม่กล้าพูดถึงตรงๆ)
คู่แข่งของแซนเดอร์ส์จำเป็นต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำบ้าง ฮิลลารี คลินตัน โจมตีคู่แข่งของเธอว่าแซนเดอร์ส์ได้แต่พูดถึงปัญหา ไม่เคยพูดถึงทางออกว่าจะต้องแก้อย่างไร (เช่นเธอสัญญาเหมือนกันว่าเธอจะสนับสนุนการเพิ่มค่าแรงเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง)
แต่ผมอยากเตือนด้วยว่า เมื่อเราเสนอทางออกโดยไม่พูดถึงต้นตอของปัญหาให้ชัด บางทีทางออกของเราก็เป็นเพียงอะไรที่มาเคลือบปัญหาที่แท้จริงเท่านั้น (เช่น 30 บาท, กองทุนหมู่บ้าน, ค่าแรง 300 บาท, หรือแม้แต่รถคันแรก ฯลฯ ก็ดีทั้งนั้นแหละครับ แต่มาตรการทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้เราไม่ต้องถามไปถึงต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ช่วยเบือนสายตาเราจากอำนาจและอภิสิทธิ์ของอภิชน)
ผมกลับไปอ่าน Piketty ใหม่ว่า เขาพูดถึงต้นตอของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจสหรัฐอะไรไว้บ้าง เขาพูดไว้หลายอย่างมาก นับตั้งแต่ระบบการจ้างงาน, เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนต่างๆ อย่างไร, ทุนและทรัพย์สินต่างประเทศในสหรัฐ, ระบบภาษี, ภาษีทรัพย์สิน, การสืบมรดก, ระบบอุดมศึกษา, ไปจนถึงคติคุณาธิปไตยล้นเกิน (meritocracy – ซึ่งมักจะแปลว่าระบบคุณธรรม แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณธรรมทั้งสิ้น) ฯลฯ
แต่ละเรื่องมีข้อมูลเชิงประจักษ์มาพิสูจน์จำนวนมาก แต่ที่สำคัญคือลงลึกไปถึงระดับแนวคิดที่ครอบงำอยู่เบื้องหลังการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคือระบบคุณาธิปไตยล้นเกิน
นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา รัฐตะวันตกให้ค่าตอบแทนแก่ความรู้ความสามารถของบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะที่ทำงานสาธารณะ เช่นเป็นข้าราชการระดับสูงหรือผู้บริหาร และนักการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อให้ดำรงชีวิตอย่างทัดเทียมได้กับชนชั้นสูงเดิม (ซึ่งเคยทำงานเช่นนี้มาก่อน) ดังนั้นระบบคุณาธิปไตยจึงเข้ามาแข่งขันกับระบบสืบทอดมรดก และยิ่งนับวันก็ยิ่งเน้นระบบคุณาธิปไตยจนล้นเกิน ไม่ใช่เพียงแค่คุณาธิปไตยเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมเท่านั้น แต่มันซึมลึกลงไปในวิธีคิดและวิธีรู้สึกของคนชั้นกลางระดับบนด้วย
Piketty อ้างงานวิจัยของนักวิจัยสตรีท่านหนึ่งในทศวรรษ 1980 ที่สัมภาษณ์ลงลึกคนชั้นกลาง ทั้งระดับบนและระดับล่างในเขตเมืองของฝรั่งเศสและสหรัฐ เธอพบว่าแม้ในเมืองที่ไม่ใหญ่เท่านิวยอร์ก คนชั้นกลางที่มีการศึกษาทั้งในฝรั่งเศสและสหรัฐ มองว่าตนเป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นตรงความรู้ความสามารถส่วนตน และ (น่าสนใจมากนะครับ) คุณธรรมความดีของตนเอง ด้วยเหตุดังนั้นจึงควรได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าคนอื่นๆ หลายเท่าตัว
คติคุณาธิปไตยเช่นนี้ซึมลึกลงไปในวิธีคิดของผู้คน แม้แต่ที่อยู่ในกลุ่มคนทางสังคมกลุ่มอื่นด้วย และช่วยจรรโลงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เห็นได้ชัดจนน่าเกลียดนี้เอาไว้อย่างมั่นคง
ในสังคมไทยซึ่งไม่เคยผ่านการปฏิวัติที่ลงถึงฐานรากของสังคม ระบบคุณาธิปไตยรวมตัวเข้ากับระบบสืบทอดมรดก (และเพื่อให้เหมาะกับสังคมไทย ผมขอเรียกว่าระบบสุขุมาลชาติ) ได้สนิทแนบเนียน ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีลักษณะชนชั้นอย่างชัดเจน คนชั้นกลางที่มีการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นทั้งสุขุมาลชาติและมี “ความรู้ความสามารถเป็นคุณ” ย่อมรับไม่ได้กับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทุกชนิด พวกเขาไม่มีทางจะเข้าใจได้ว่า เหตุใดคนที่ไม่เก่งและไม่ดีจึงควรได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐ เพื่อยืดคอขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับพวกเขา เพียงเพราะคนพวกนั้นมีจำนวนมากต่อมากเท่านั้นหรือ ถ้าเพียงเท่านั้นระบอบที่ให้น้ำหนักแก่เสียงส่วนมาก จึงเป็นระบอบที่ปฏิเสธความเก่งและความดี อันเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานเลยทีเดียว
ผมตกใจกับบทความที่อาจารย์เกษียรนำมาเผยแพร่ ไม่ได้ตกใจกับเนื้อหาของบทความ แต่ตกใจกับความรู้สึกของตนเอง เมื่อได้เห็นภาพคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ และสมัครพรรคพวกที่นั่งหัวโต๊ะ กรธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญของตนขึ้นเสนอต่อสังคมไทย
ในโลกที่เราได้ความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ของมนุษย์ในสังคมต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งขึ้นเช่นนี้ คนเหล่านี้มาจากโลกชนิดไหนกัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนแก่ แต่จากสิ่งที่พวกเขาพูด, เขียน, และรัฐธรรมนูญที่เขาร่าง ล้วนส่อให้เห็นว่าโลกของเขาได้ตายไปนานแล้ว อาจตายไปตั้งแต่พวกเขายังไม่เกิดด้วยซ้ำ
ไม่มีใครปฏิเสธว่าประชาธิปไตยนั้นมีปัญหา เช่นเดียวกับไม่มีใครปฏิเสธว่าทุนนิยมก็มีปัญหา ยิ่งสองอย่างนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกันและกันในการปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ก็ยิ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัวมากขึ้น แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นระบอบที่เปิดให้เกิดการโกง เพราะการโกงมีในทุกระบอบปกครอง ประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการของรัฐสภา เพราะเสียงข้างมากในสภาอาจกลับกลายเป็นเสียงข้างน้อยได้เสมอ อย่างน้อยก็ในทุกวาระที่มีการเลือกตั้ง (แท้จริงอาจเปลี่ยนก่อนหน้านั้นก็ได้) ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบปกครองเดียวที่เรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนโดยไม่รับผิดชอบ (ซึ่งเรียกกันว่าประชานิยม) ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆ สามารถตรวจสอบนโยบายรัฐได้ (มากเสียกว่าข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเสียด้วยซ้ำ) จนทำให้นโยบายที่ไม่รับผิดชอบดำเนินไปได้ยาก
การหมาย (identify) ว่าอะไรคือปัญหาของประชาธิปไตยของ กรธ. ไม่เพียงแต่เป็นการหมายที่ล้าสมัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการหมายของคนที่ไม่รู้จักประชาธิปไตยเลย ซ้ำไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจว่า ปัญหาจริงๆ ของประชาธิปไตยที่โลกสมัยปัจจุบันเผชิญอยู่คืออะไร เช่นจะทำอย่างไรให้ประชาชนควบคุมพรรคการเมืองได้รัดกุมมากขึ้น ไม่ใช่ให้คนนอก (ไม่ว่าจะเป็นทหาร, วุฒิสภาจากการแต่งตั้ง, หรือสภาคนนอกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนายทุน, วิชาชีพ, แพทย์ หรือผู้อ้างตนเป็นสัตบุรุษต่างๆ) เข้ามาควบคุมพรรคการเมืองแทนประชาชน เพราะแม้แต่พรรคการเมืองต้องถูกบังคับให้เปิดตัวเองแก่การควบคุมของประชาชนอย่างสหรัฐ ในที่สุดประชาชนก็สูญเสียอำนาจควบคุมของตนไปแก่ขาใหญ่ของพรรค ซึ่งสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนส่วนน้อยที่ถือส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติไปเป็นส่วนใหญ่
ปัญหาของประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันก็คือ ประชาธิปไตยกำลังถูกควบคุมด้วยอำนาจที่ประชาชนควบคุมตรวจสอบไม่ได้ จนแม้แต่การเลือกตั้งก็ไร้ความหมายในชีวิตจริงของผู้คน ในขณะที่โจทย์ของนักร่างรัฐธรรมนูญของไทยกลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือจะให้อำนาจนอกระบบนานาชนิด เข้ามาควบคุมประชาธิปไตยได้อย่างไร
ในโลกนอกประเทศไทย ปัญหาของประชาธิปไตยคือจะจัดการให้ยักษ์นอกตะเกียงทำตัวเป็นประโยชน์แก่ประชาชนตามสัญญาได้อย่างไร แต่ในประเทศไทย ปัญหาของประชาธิปไตยคือจะจับยักษ์ยัดกลับไปอยู่ในตะเกียงได้อย่างไร

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 25 เมษายน 2559

ที่มา: มติชนออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top