0

ผู้ทรงอิทธิพลทั่วโลกฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษีกันอย่างไร ?
จากกรณีที่มีการเปิดเผยเอกสารลับ “ปานามา เปเปอร์ส” ที่เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) นำมาเผยแพร่ถึงการฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษีของบรรดาเศรษฐีและผู้นำประเทศทั่วโลก ผ่านการดำเนินการของบริษัทมอสแสค ฟอนเซกา ที่มีฐานในปานามานั้น วิธีการที่คนเหล่านี้ใช้ปิดบังความมั่งคั่งร่ำรวยของตนเองล้วนมีแบบแผนคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเจ้าพ่อยาเสพติด เจ้าของกิจการระดับโลกไปจนถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ
ตั้งบริษัทบังหน้า
ขั้นตอนแรกในการฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษีคือการตั้งบริษัทบังหน้า ซึ่งดูภายนอกบริษัทนี้เหมือนกับกิจการที่ถูกกฎหมายทั่วไป แต่กลับไม่ดำเนินการผลิตค้าขายสิ่งใด นอกจากคอยบริหารเงินที่มีอยู่ โดยบริษัทจะมีชื่อผู้บริหารและพนักงานตั้งแต่นักกฏหมาย นักบัญชี ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาด แต่คนเหล่านี้จะไม่ทำอะไร นอกจากให้ใช้ชื่อไว้อ้างในจดหมายและลงนามในเอกสารต่าง ๆ เพื่อช่วยปกปิดตัวตนเจ้าของเงินที่แท้จริง ทำให้บริษัทแบบนี้มีลักษณะเหมือนเกราะกำบังที่ภายในกลวงเปล่า บางคนเรียกบริษัทแบบนี้ว่า บริษัทกล่องจดหมาย เพราะมีเพียงที่อยู่ไว้ให้ติดต่อส่งเอกสารเท่านั้น
อาศัยศูนย์กลางการเงินนอกประเทศ
เมื่อตั้งบริษัทบังหน้าขึ้นมาแล้ว การให้บริษัทตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ของโลกที่มีการตรวจสอบเข้มงวดเช่นกรุงลอนดอนหรือกรุงปารีสย่อมไม่ปลอดภัย บรรดาผู้ต้องการซุกซ่อนความมั่งคั่งทั้งหลาย จึงต้องอาศัยศูนย์กลางการเงินนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่ได้ชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของการหลบเลี่ยงภาษี” เช่น หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน มาเก๊า บาฮามาส์ หรือปานามา ซึ่งประเทศเหล่านี้ขึ้นชื่อเรื่องให้บริการทางการเงินโดยปกปิดเป็นความลับ รวมทั้งมีการตรวจสอบที่ไม่เข้มงวด กิจการต่าง ๆ สามารถทำธุรกรรมเคลื่อนย้ายทรัพย์สินได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้ถือครองให้ชัดเจนแต่อย่างใด โดยนิยมถือครองและจัดการทรัพย์สินในรูปของหุ้นหรือตราสารหนี้ชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือ (Bearer bonds)
การฟอกเงิน
ส่วนเงินซึ่งมีที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด หรือการรับสินบนของนักการเมือง ที่เรียกกันว่าเงิน “สกปรก” จะต้องถูก “ฟอก” เพื่อให้เปลี่ยนเป็นเงินสะอาดที่มีที่มาอย่างถูกต้อง ง่ายต่อการเก็บออมหรือใช้ทำธุรกรรมต่อไปโดยไม่ถูกสงสัยหรือจับจ้องตรวจสอบ ตามปกติแล้วจะมีการส่งเงินเหล่านี้ไปให้ศูนย์กลางการเงินนอกประเทศ โดยจะมีการเปลี่ยนเงินให้อยู่ในรูปของตราสารหนี้ชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือ (Bearer bonds) และนำเข้าบัญชีลับหรือให้บริษัทซึ่งจดทะเบียนบังหน้าเตรียมไว้แล้วเป็นผู้ถือตราสารหนี้ดังกล่าว
หลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
การใช้บัญชีลับหรือบริษัทบังหน้าซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางการเงินนอกประเทศ ยังเป็นวิธีหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติของบรรดาผู้นำประเทศที่ถูกลงโทษจากการมีประวัติการกดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย โดยประเทศผู้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรนั้นจะยึดบัญชีและทรัพย์สินของผู้นำที่กระทำผิด รวมทั้งห้ามการทำธุรกรรมต่าง ๆ แต่บรรดาผู้นำเหล่านี้สามารถหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรได้ โดยนำทรัพย์สินไปเก็บไว้ในบัญชีลับหรือบริษัทที่ตั้งบังหน้า และใช้บริการบริหารทรัพย์สินเป็นการลับจากศูนย์กลางการเงินนอกประเทศ ทำให้ยังสามารถใช้เงินที่มีไปกับการซื้ออาวุธ ทำสงครามกลางเมือง หรือพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ได้ต่อไป
ทั้งนี้ การเปิดเผยเอกสารลับ “ปานามา เปเปอร์ส” ได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและการตรวจสอบบรรดาบุคคลสำคัญในหลายประเทศ ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในชุดเอกสาร 11 ล้านชิ้นนี้ว่าเป็นผู้ใช้บริการการเงินลับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้นำรัสเซียและจีน ประธานาธิบดีซีเรียและไอซ์แลนด์ กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงบิดาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top