0
2016-04-30_220947
รองโฆษกตร.ชี้ทวีตติด #ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ หรือ 'ยืนเฉยๆ' หากส่อเจตนาหวังผลก็ผิด
Posted: 29 Apr 2016 05:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
29 เม.ย.2559 จากกรณีแฮชแท๊กชื่อ "#ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ” ซึ่งมีการทวีตข้อความเชิงเสียดสีพร้อมติดแฮชแท๊กดังกล่าว ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ตั้งแต่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั้ง ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยถึงการโพสต์ข้อความแนวประชดประชัน การใช้ประโยคสัญลักษณ์แทนการสื่อสารทางตรง หรือการติดแฮชแท๊ก 'ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ' ดังกล่าวว่า อยู่ที่เจ้าพนักงานจะใช้ดุลพินิจ ยืนยันทุกคนยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริต ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่พาดพิงบุคคลหรือองค์กรในลักษณะหมิ่นประมาท ทำให้เสียชื่อ ทำให้บุคคลหรือสังคมเข้าใจผิด นั้น
ล่าสุดวันนี้ (29 เม.ย.59) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวถึงกรณีที่ พ.อ.วินธัย ระบุให้เจ้าหน้าที่ ใช้ดุลพินิจ ดังกล่าวว่า ประชาชนควรบริโภคข้อมูลอย่างรอบด้าน การส่งข้อความไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหนต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ยืนยันโดยพื้นฐานของกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออกได้อยู่แล้ว การพูด การสื่อสาร แต่ในทางกลับกันถ้ามีการกระทำในลักษณะหมิ่นเหม่ หรือโน้มน้าวให้คนไม่รับร่างก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย ส่วนการทวิตข้อความในเชิงประชดประชันนั้น ต้องดูกฎหมายเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการใช้ถ้อยคำ ดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือไม่ก็มีการส่อเสียดหรือเปล่า ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเรียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวด 3 มาตรา 60, 61 เป็นบทบัญญัติค่อนข้างกว้าง จริงๆกฎหมายให้สิทธิ์ มาตรา 7 บอกว่าบุคคลมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นตามสื่อต่างๆได้ แต่ต้องไม่สร้างความวุ่นวาย เท่าที่ทราบคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกกฎเกณฑ์ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ในระหว่างนี้ให้ศึกษาข้อมูลรอบด้านก่อนจะโพสต์“
 
รองโฆษกตร.กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกรณีนี้อยู่ตลอดเวลา โดยมีการฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ทั้งนี้หากพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดก็ต้องดำเนินคดี และหากการกระทำให้ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องการทำประชามติเห้นว่าไม่เหมาะสม และเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.ฯ ก็จะส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินการ
 
ต่อกรณีที่มีชื่อ จตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) และสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ปรากฏในแผนผังเครือข่ายกลุ่มผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคง ตามมาตรา 116 นั้น  รองโฆษกตร.กล่าวว่า ถ้ามีแค่ชื่อในแผนผังยังไม่ถือว่ามีความผิด แต่เจ้าหน้าที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญที่สาธารณะชนรู้จัก
 
ต่อกรณีที่มีการแสดงออกด้วยการยืนเฉยๆ รองโฆษกตร.กล่าวว่า ก็ต้องพิจารณาดูว่าการ ยืนเฉยๆ นั้น มีเจตนาอย่างไร ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ การไปยืนเฉยกระทบการใช้ชีวิตปกติของผู้อื่นหรือไม่ หวังผลอย่างไร หากขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือส่อเจตนา หวังผล สื่อสารเพื่อสร้างความวุ่ยวาย ก็มีความผิด ต้องดูด้วยว่าการไปยืนเฉยๆ บางครั้งก็ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น ตรงนี้ต้องดูองค์ประกอบและเจตนา ทั้งนี้ตำรวจให้ความเป็นธรรมแน่นอน และการชุมนมรวมตัวก็มีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องมีการแจ้งขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ก่อน
 
เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ และเดลินิวส์

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top