0

กลุ่มนักวิชาการกฎหมาย คณะนิติราษฎร์ แจงเหตุผล ประกาศ ‘ไม่รับ’ ร่างรธน.ฉบับออกเสียงประชามติ วอนคืนอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญให้ประชาชน

ในวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายในนาม คณะนิติราษฎร์ อออกแถลงการณ์ เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ ประกาศจุดยืนของกลุ่มว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559
แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ประเด็นเนื้อหา ข้อวิจารณ์ต่อคำโฆษณาเป็น ‘ฉบับปราบโกง’ หลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ และการโหวตรับร่างฯ รวมความยาว 10 หน้ากระดาษพิมพ์ สรุปบางประเด็นสำคัญได้ดังนี้
กรณีร่างฯเปิดทางให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอำนาจอยู่ต่อไปภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสิ้นสุดลงและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่งนั้น ทำให้หัวหน้าคสช.จะยังมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดต่อไป การโหวตรับจึงเท่ากับยินยอมให้หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพได้โดยไม่ถูกฟ้องร้องโต้แย้ง ไม่ต้องรับผิดใดๆทั้งสิ้น
กรณีให้สมาชิกวุฒิสภามาจากคสช. ย่อมเป็นไปได้ยากที่วุฒิสมาชิกจะปลอดพ้นจากการครอบงำของคสช. กรณีร่างฯบัญญัติรับรองให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำของคสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแม้ออกบังคับใช้หลังประกาศใช้รธน.ฉบับถาวรแล้ว เป็นการเปิดทางให้หัวหน้าคสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผลรองรับ
กรณีวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถือว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานในรัฐเสรีประชาธิปไตย ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย  กรณีร่างฯเขียนแผนการปฏิรูปประเทศเอาไว้ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องทำตาม เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริง
ตามร่างฯฉบับนี้ องค์กรตุลาการและองค์กรอิสระมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความไร้ดุลยภาพ นั่นคือ ฝ่ายที่ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสามารถทำให้ฝ่ายที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย พ้นจากตำแหน่งได้โดยง่าย กรณีในข้อนี้ได้แก่
--ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ใช้บังคับส.ส.และครม. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจไต่สวน “จริยธรรม” และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ส.ส.หรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาไม่เกินสิบปี
--ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่มี “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” เปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขับนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ได้
--ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้ครม.พ้นจากตำแหน่ง อันเนื่องด้วยการอนุมัติหรือใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งบทลงโทษเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งตลอดชีวิต หรือต้องชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย ก็นับเป็นบทลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ
คณะนิติราษฎร์ยังอภิปรายในประเด็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย นักวิชาการกฎหมายกลุ่มนี้ชี้ว่า กรณีร่างฯกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมของประธานศาลต่างๆ ประธานองค์กรอิสระ และผู้นำทางการเมือง เพื่อให้ที่ประชุมร่วมนั้นวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อเกิดกรณีใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ เท่ากับเป็นการกำหนดให้องค์กรที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมีความสำคัญยิ่งกว่าองค์กรที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ที่ผ่านมา เคยมีความพยายามที่จะใช้ช่องทางนี้ผลักดันให้เกิดการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และเรียกร้องขอ “นายกฯพระราชทาน” มาแล้ว ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ในอนาคตจะมีการกล่าวอ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ เพื่อเปิดช่องให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และที่ประชุมร่วม อันประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ วินิจฉัยให้เกิดผลลัพธ์ที่ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ กลายเป็นทางลัดเข้าสู่อำนาจของผู้ต้องการอำนาจทางการเมืองที่ไม่แสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน
ในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ร่างฯฉบับนี้กำหนดให้แก้ไขได้ยากอย่างยิ่ง การเขียนรัฐธรรมนูญให้แก้ยากมากย่อมลดโอกาสที่จะทำรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ และอาจเกิดความพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางรุนแรง
ในกระแสที่มีการชูจุดขายว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แถลงการณ์วิจารณ์ว่า การป้องกันปราบปรามการทุจริตไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องทำภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ได้ดุลยภาพ
นอกจากนี้ ร่างฯดังกล่าวมุ่งแต่ตรวจสอบองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระและองค์กรตุลาการ โดยเฉพาะศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ กลับไม่ถูกตรวจสอบ
ในเรื่องการออกเสียงประชามติ คณะนิติราษฎร์ทักท้วงว่า ขาดความครบถ้วนของข้อมูลในการตัดสินใจ นั่นคือ คนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างฯ และตัดสินใจโหวตไม่รับร่างฯ ไม่อาจรู้ว่าหากร่างนี้ไม่ผ่านประชามติ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จึงไม่อาจนับได้ว่านี่เป็นการลงประชามติที่แท้จริง
คณะนักนิติศาสตร์กลุ่มนี้เตือนด้วยว่า การออกเสียงรับร่างฯไม่ได้หมายความว่าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว แม้ร่างผ่านการยอมรับเป็นประชามติ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมีเวลาอีก 15 เดือนที่จะเขียนกฎหมายลูกและเตรียมจัดการเลือกตั้ง ในระหว่างนั้น หัวหน้าคสช.สามารถใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งได้
ท้ายสุด คณะนิติราษฎร์ประกาศว่า ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ทางกลุ่มจึงไม่อาจเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้
“ขอแสดงเจตจำนงให้ปรากฎต่อสาธารณะว่า คณะนิติราษฎร์ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช...”  แถลงการณ์ระบุ พร้อมกับเรียกร้องให้คืนอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญให้ประชาชนหากร่างฯไม่ผ่านประชามติ.


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top