0
วันนี้ (22 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี เผยว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง 14 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 21 จังหวัด โดยรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ คือ “รอยเลื่อนแม่จัน” ที่พาดผ่านจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปถึง สปป.ลาว มีโอกาสเคลื่อนตัว จนอาจเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดสูงสุดขนาด 7.0 แต่ไม่สามารถระบุช่วงเวลาเกิดชัดเจนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับ “รอยเลื่อนสะกาย” ของเมียนมา ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.5 – 8.0 ได้ใน 50 ปีข้างหน้า และแรงสั่นสะเทือนจะกระทบถึงประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ทำให้ตัวอาคารบ้านเรือนเสียหายทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่าจะกระทบไทยอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีการจับตาและเฝ้าระวัง “รอยเลื่อนอุตรดิตถ์” พบว่า รอยเลื่อนนี้ไม่ได้มีเฉพาะไทย แต่พาดผ่านมาจากจีนตอนใต้ เวียดนาม ลาว และปลายรอยเลื่อนอยู่ที่ไทย จึงเป็นรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่และยาวมาก ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะการขยับหรือเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่น้ำแดงในประเทศจีน ขนาด 7.5 – 8.0 จะมีผลกระทบต่อรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ทันที
ขณะที่ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานผืนแผ่นดินเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยสำรวจพบว่า “รอยเลื่อนอุตรดิตถ์” เป็นรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่และเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสูงขนาด 6.0 – 7.0 ที่ซ่อนตัวอยู่และมีความน่ากลัว เพราะเป็นรอยเลื่อนที่ขนานกับ “รอยเลื่อนแม่จัน” คาดว่า จะบรรจุเป็นรอยเลื่อนใหม่ของไทยในปีหน้า
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก หน่วยวิจัยธรณีวิศวกรรมแผ่นดินไหว ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง ความเสี่ยงภัยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.5 กับเขื่อนในประเทศไทย ว่า ประเทศไทย มีเขื่อนประมาณ 5,000 เขื่อน แบ่งเป็น เขื่อนขนาดเล็กกว่า 4,000 แห่ง, เขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่อีกกว่า 200 แห่ง ซึ่งก่อนการก่อสร้างเขื่อนทุกครั้งจะสำรวจขุดเปิดฐานรากในช่วงกลางแม่น้ำของตัวเขื่อนว่ามีรอยเลื่อนมีพลังหรือไม่ และมีโครงสร้างที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0
ทั้งนี้ ทุกเขื่อนจะมีเครื่องมือแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหว กรณีทำให้เขื่อนพังเกิดได้ 3 รูปแบบ คือ น้ำล้นเขื่อนที่เกิดจากแรงกดของน้ำที่มากเกินไป, เกิดจากน้ำซึมหรือมีรอยรั่ว และเกิดจากดินถล่ม ซึ่งตามสถิติของเขื่อนที่จะพังเกิดขึ้นในช่วง 1 – 5 ปี เพราะเป็นช่วงแรกของการรองรับน้ำจำนวนมากเมื่อผ่านไปถือว่าจะโครงสร้างเขื่อนมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องบำรุงรักษาต่อเนื่อง ในส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่พังจากแผ่นดินไหวมีเพียงเขื่อนเดียวในโลก คือ เขื่อนที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดสึนามิเมื่อปี 2554 และเป็นเขื่อนที่สร้างมานานแล้ว สำหรับเขื่อนในไทย โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ที่หลายคนกังวล พบว่า การก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ ได้อัดทับด้วยหินและปูทับด้วยคอนกรีต ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ ได้บดอัดด้วยดินเหนียวครั้งละ 5 เซนติเมตร และทับถมครบ 100 เมตร รวมทั้ง ได้สำรวจและจำลองแรงสั่นสะเทือนขนาด 7.0 พบว่า เกิดการทรุดตัวในแนวดิ่งประมาณ 80 เซนติเมตร แต่โครงสร้างของเขื่อนก่อสร้างรองรับกรณีการทรุดตัวอยู่แล้ว หากแผ่นคอนกรีตแตกจะเกิดความเสียหายแค่น้ำไหลซึมออกจากเขื่อน แต่ไม่ทำให้เขื่อนแตก ขอให้ประชาชนสบายใจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในเรื่องอาคารบ้านเรือนที่จะเสียหายจากแผ่นดินไหว จึงขอให้ประชาชนอย่าสร้างที่พักอาศัยในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top