0

บัลแกเรียยกย่อง “นักล่าผู้อพยพ” เป็นวีรบุรุษ แต่หลายฝ่ายชี้เป็นการโหมกระแสความเกลียดชังมุสลิม
นายดินโก วาเลฟ ผู้ค้าอะไหล่รถยนต์ และนักมวยปล้ำมือสมัครเล่นร่างบึกบึนวัย 29 ปี โด่งดังไปทั่วบัลแกเรียในชั่วข้ามคืน หลังข่าวการออกตามล่าและสกัดผู้อพยพตามแนวชายแดนด้านที่ติดกับตุรกีของเขา ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์เมื่อเดือนที่แล้ว
รายงานข่าวดังกล่าว ยกย่องนายวาเลฟเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” โดยกล่าวถึงความกล้าหาญของเขาในการเผชิญหน้าและจัดการกับผู้อพยพชาวซีเรียกลุ่มใหญ่ ที่เป็นชาย 12 คน หญิง 3 คน และเด็กอีก 1 คน “ด้วยมือเปล่า”โดยเขานำรถควอดไบค์คู่ใจออกลาดตระเวน เมื่อพบกลุ่มผู้อพยพ ก็จะเข้าสกัดจับไว้ ก่อนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ
มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกจากโทรศัพท์มือถือ ขณะที่นายวาเลฟกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งของเขาออกปฏิบัติการ โดยในคลิปมีเสียงนายวาเลฟกล่าวดูถูกและประณามผู้อพยพจากซีเรียว่า ต้องการเข้ามาบัลแกเรียเพื่อ “ฆ่าพวกเราเยี่ยงสัตว์” เขายังกล่าวว่า บัลแกเรียจำเป็นต้องมีคนยอมเสียสละ คอยเฝ้าระวังและปกป้องประเทศเยี่ยงเขา
นายวาเลฟให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซีในภายหลัง โดยกล่าวถึงผู้อพยพว่า “คนพวกนี้ทั้งน่าชิงชัง ทั้งเลวทราม ควรที่จะอยู่แต่ในประเทศของตนเองเท่านั้น” เขาบอกว่าคนบัลแกเรียร้อยละ 95 สนับสนุนเขา และว่าบัลแกเรียขาดการป้องกันพรมแดนโดยทางการทำงานกันอย่างสับสนไร้ระเบียบ ที่ผ่านมา เขาได้พยายามระดมกำลังอาสาสมัครป้องกันชายแดน ซึ่งมีผู้ขับรถจี๊ปและควอดไบค์เข้าร่วมลาดตระเวนกับเขาแล้วกว่า 50 ราย
อย่างไรก็ตาม โฆษกกองบังคับการตำรวจชายแดนบัลแกเรียชี้ว่า ทางการยินดีที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลหรือเบาะแสจากประชาชน เกี่ยวกับอาชญากรรมหรือการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฏหมาย แต่อำนาจการควบคุมตัวพลเมืองหรือผู้อพยพอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น
ที่ผ่านมา รัฐบาลบัลแกเรียได้พยายามสกัดกั้นการทะลักเข้ามาของผู้อพยพ โดยได้สร้างรั้วลวดหนามปิดกั้นชายแดนด้านที่ติดกับตุรกีไปแล้วถึงครึ่งทาง และมีแผนว่าจะปิดกั้นให้ยาวขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่าปีที่แล้วจะมีผู้อพยพเพียง 90,000 คนจากทั้งหมดกว่าหนึ่งล้านคนเท่านั้น ที่ใช้บัลแกเรียเป็นเส้นทางผ่านเข้าสหภาพยุโรป
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า กระแสต่อต้านผู้อพยพในบัลแกเรียนั้นมีการปลูกฝังกันมานาน โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการรายงานของสื่อ ดังจะเห็นได้จากสถิติของสมาคมผู้สื่อข่าวยุโรปเมื่อปี 2556 ที่ชี้ว่า ในบรรดารายงานข่าวเกี่ยวกับผู้อพยพ 8,439 ชิ้นที่ปรากฏอยู่ในสื่อบัลแกเรียนั้น จะมีศัพท์สองคำที่มักถูกใช้ซ้ำอยู่บ่อย ๆ คือ “ภัยคุกคาม” และ “เชื้อโรค” นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีส่วนสร้างความกลัวและเกลียดชังผู้อพยพ ด้วยการปลุกปั่นยุยงอยู่เนือง ๆ ว่า คนเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามของประเทศ
ฮาราลัน อเล็กซานดรอฟ นักมานุษยวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยนิวบัลแกเรียชี้ว่า ความหวาดกลัวและไม่ไว้ใจชาวมุสลิมอาจหยั่งรากลึกมานาน โดยเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่บัลแกเรียตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมันมานานกว่า 500 ปี กลุ่มชาตินิยมบัลแกเรียมักปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อว่า โลกมุสลิมเต็มไปด้วยพวกข่มขืนหรือก่อการร้าย ยิ่งเกิดเหตุระเบิดก่อการร้ายขึ้นหลายแห่งเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยิ่งทำให้กระแสความกลัวโหมหนักขึ้นอีก นอกจากนี้ ความผิดหวังต่อสหภาพยุโรปที่จัดการปัญหาผู้อพยพไม่สำเร็จ รวมทั้งความไม่พอใจปัญหาคอร์รัปชั่นและความยากจนที่เรื้อรังของประเทศ ยิ่งทำให้กระแสการต่อต้านผู้อพยพรุนแรงขึ้นด้วย

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top