0

แม่สอดโมเดล: ทางการมอบบัตรประจำตัว เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเยาวชนข้ามชาติในไทย
หน่วยงานรัฐมอบบัตรประจำตัวแก่เด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนไทย หวังดึงกลุ่มคนไร้สถานะเข้าสู่ระบบ ส่งเสริมโอกาสเรียนรู้ตามนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน ป้องกันเด็กตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตาก เขต 2 พร้อมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตาก มอบบัตรประจำตัวเลข 13 หลักให้แก่เด็กนักเรียนข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาตินับร้อยคนที่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเอกชน 7 แห่งของอำเภอแม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนรายหัวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าวให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การจัดทำบัตรดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ สช.ไม่จัดสรรเงินให้แก่โรงเรียนเอกชนในอำเภอแม่สอดเมื่อปี 2558 โดยอ้างถึงระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่สนับสนุนเงินรายหัวแก่เด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ในประเทศไทย ทำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยในจังหวัดตากร่วมกันสำรวจรายชื่อและที่อยู่ของนักเรียนซึ่งเป็นเด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติ เพื่อนำไปจัดทำบัตรประจำตัวเลข 13 หลักจนสำเร็จเมื่อต้นเดือน มี.ค. กลายเป็นกรณีศึกษา “แม่สอดโมเดล” ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไร้สถานะได้ในอนาคต
นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ย้ำว่าบัตรประจำตัวที่จัดทำให้แก่เด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่บัตรประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับการมอบสัญชาติไทย แต่เป็นการออกเอกสารประจำตัวบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ เพื่อให้ทางราชการไทยนำไปใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลเท่านั้น
ขณะที่นายเศรษฐพงษ์ ศรีสุวรรณ คณะอนุกรรมการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนในสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าเด็กนักเรียนในอำเภอแม่สอดมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มีทั้งเด็กกลุ่มชาติพันธุ์จากเมียนมาซึ่งพ่อและแม่เข้ามาทำงานในอำเภอแม่สอด บุตรของแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทย และบุตรของชาวไทยกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ทำเรื่องแจ้งเกิด จึงไม่ได้รับการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎร์ของไทย ทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นบุคคลไร้สถานะ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการศึกษาเพื่อปวงชนซึ่งประกาศใช้ตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ระบุว่าเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จึงควรส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้เข้ารับการศึกษา และเด็กจะได้มีโอกาสพัฒนาความรู้และศักยภาพให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
ด้านนายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอแม่สอด ระบุว่าการจัดทำบัตรประจำตัวแก่กลุ่มคนข้ามชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรหยุดแค่การจัดทำบัตรให้แก่เด็กนักเรียน ต้องรวมถึงกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและผู้ติดตามแรงงานที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไทย เนื่องจากอำเภอแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดพรมแดนประเทศเมียนมา ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก จนกลายเป็นช่องทางให้ขบวนการค้ามนุษย์และมิจฉาชีพหลอกลวงหรือเรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่การจัดทำทะเบียนบุคคลไม่มีสถานะเหล่านี้จะเป็นการดึงคนที่เคยอยู่ใต้ดินหรืออยู่นอกระบบให้กลับเข้ามาในระบบ เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการตรวจสอบ ติดตาม และสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมได้อย่างง่ายดายขึ้น
ทั้งนี้ องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) และมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (Help Without Frontiers) ประเมินว่าเด็กข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 300,000-400,000 คน แต่เด็กเหล่านี้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาจริงประมาณ 74,967 คนเท่านั้น เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เป็นบุคคลไร้สถานะ และผู้ปกครองลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top