0
บทวิเคราะห์: ชี้เบลเยี่ยมเป็นแหล่งบ่มเพาะนักรบจีฮัดให้กับไอเอส การโจมตีเบลเยี่ยมคือการสร้างเงื่อนไขความแตกแยกและคับแค้นเพื่อผลในการหาสมาชิกเพิ่ม

22 มี.ค. กรุงบรัสเซลส์ถูกโจมตี 2 จุดภายในระยะเวลาเพียงชั่วโมงเศษ โดยจุดแรกเกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานในกรุงบรัสเซลส์ ส่วนอีกจุดเกิดขึ้นที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลเบค “ปีเตอร์ ฟาน ออสเตเยน” นักวิเคราะห์เกี่ยวกับนักรบจีฮัด บอกว่า สาเหตุที่ทำให้เบลเยียมตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) มีอยู่ด้วยกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการที่เบลเยียมเป็นแหล่งบ่มเพาะกลุ่มนักรบจีฮัดที่มีความคับแค้นใจเพราะรู้สึกว่าตนได้รับการปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสองของประเทศ

ช่วงก่อนเกิดเหตุก่อการร้ายในบรัสเซลส์เพียงไม่กี่วัน กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของเบลเยียมได้บุกทลายแห่งกบดานของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ปีก่อน และได้วิสามัญฆาตกรรมนายโมฮัมเหม็ด เบลกาอิด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม จากนั้นก็สามารถตามจับกุมตัวนายซาลาห์ อับเดสลาม ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในเหตุโจมตีที่ปารีส ความสำเร็จครั้งนี้สร้างความยินดีแก่รัฐบาลเบลเยียมเป็นอย่างมากและคิดว่าสามารถจัดการเครือข่ายก่อการร้ายที่ปารีสได้ในที่สุด โดยไม่คาดคิดว่าบรัสเซลส์จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีในเวลาต่อมา

ออสเตเยน ระบุว่า หลังจากนายอับเดสลามถูกจับ มีกระแสข่าวแพร่สะพัดออกมาว่าเขาอาจให้ความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมเบลเยียม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คาดว่าเครือข่ายของกลุ่มไอเอสที่วางแผนโจมตีกรุงปารีส และวางแผนจะโจมตีเบลเยียมอาจตัดสินใจชิงลงมือก่อเหตุให้เร็วขึ้น โดยวิธีการก่อเหตุในบรัสเซลส์มีรูปแบบเดียวกับเหตุโจมตีครั้งก่อนๆของไอเอส เช่น การโจมตีในตูนิเซีย การโจมตีเครื่องบินโดยสารรัสเซียบนคาบสมุทรไซนาย และการโจมตีที่ปารีส ที่คนร้ายมีเป้าหมายสำคัญในการสังหารผู้คนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความวุ่นวายแล้วฉกฉวยประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งในกรณีของเบลเยียมนั้นคือการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

ออสเตเยน บอกว่า กลุ่มไอเอสหวังจะสร้างความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับมุสลิม การยั่วยุให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวและต่อต้านอิสลามนั้นจะทำให้กลุ่มไอเอสสามารถฉวยโอกาสใช้เบลเยียมเป็นแหล่งบ่มเพาะกลุ่มนักรบจีฮัดของตนได้ เพราะหากดูจากการทำงานของบรรดาเครือข่ายกลุ่มหัวรุนแรงในเบลเยียม จะเห็นได้ว่ากลุ่มเหล่านี้มักใช้ข้ออ้างเรื่องถูกปฏิบัติราวกับพลเมืองชั้นสองของประเทศ เช่น การถูกห้ามสวมผ้าคลุมที่ปิดบังใบหน้าทั้งหมด มาเป็นข้ออ้างในการไปเข้าร่วมกลุ่มไอเอส ส่งผลให้ปัจจุบันเกิดกลุ่มหัวรุนแรงขึ้นในเบลเยียมหลายกลุ่ม และทำให้เบลเยียมกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนนักรบจีฮัดต่อประชากรมากที่สุดในแถบยุโรปตะวันตก ซึ่งคนร้ายที่ก่อเหตุในกรุงปารีสและบรัสเซลส์ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกไอเอสที่มาจากเบลเยียม

ออสเตเยน เชื่อว่า ภัยก่อการร้ายที่คุกคามประเทศในยุโรปยังไม่หมดไป พร้อมชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เครือข่ายไอเอสกลุ่มอื่นๆกำลังเฝ้ารอสัญญาณที่จะออกมาก่อเหตุร้ายอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นในเบลเยียม ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร

ในภาพ สนามบินซาเวนเท่มของเบลเยี่ยมหลังถูกโจมตีเมื่อเวลาประมาณ 8 น.

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top