0
จีนเปิดมหาวิทยาลัยใหม่โดยเฉลี่ย 1 แห่งทุกสัปดาห์

ความเจริญรุดหน้าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจีนทำให้ผู้คนให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก แอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า ข้อมูลในปัจจุบันบ่งชี้ว่าจีนกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนาด้านการศึกษา และเปิดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้นโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 แห่ง ความคืบหน้านี้กำลังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อประชากรผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของโลก ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีจำนวนบัณฑิตรุ่นใหม่แซงหน้าสหรัฐฯและยุโรป

ชไลเชอร์ ระบุว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากที่สุดในโลก แต่สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันระบบการศึกษาของจีนได้ผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมากแซงหน้าระบบการศึกษาในสหรัฐฯและยุโรปรวมกัน และคาดว่าภายในปี 2573 จำนวนบัณฑิตจีนที่มีอายุ 25 – 34 ปีจะเพิ่มขึ้น 300% เมื่อเทียบกับตัวเลขในสหรัฐฯและยุโรปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 30%

สำหรับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯนั้น หลักๆมาจากปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียน ขณะที่การขยายตัวของมหาวิทยาลัยในยุโรปต้องหยุดชะงักลงเพราะไม่มีการลงทุนในภาครัฐ หรือมหาวิทยาลัยไม่ได้รับอนุญาตให้ระดมเงินทุนด้วยตนเอง สวนทางกับสถานการณ์ในจีนและประเทศแถบเอเชีย เช่น อินเดีย ที่มุ่งเน้นการลงทุนในภาคการศึกษา และกำลังก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับสถาบันอุดมศึกษาของชาติตะวันตก

ชไลเชอร์ บอกว่า การแข่งขันที่ว่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องจำนวนนักศึกษาเพียงอย่างเดียว ทว่าขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษาด้วย โดยข้อมูลในปี 2556 บ่งชี้ว่า 40% ของบัณฑิตจีนจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีจำนวนมากเป็น 2 เท่าของบัณฑิตในสหรัฐฯ และบัณฑิตเหล่านี้ถือเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนและอินเดียไปสู่ความเจริญรุดหน้า คาดว่าภายในปี 2573 จีนและอินเดียจะมีจำนวนบัณฑิตในสาขาวิชาเหล่านี้คิดเป็น 60% ของทั้งโลก ขณะที่สหรัฐฯจะมีสัดส่วนเพียง 4% และยุโรป 8% เท่านั้น

ชไลเชอร์ กล่าวว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียกำลังเดิมพันอนาคตประเทศไว้กับทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาและรัฐบาลชาติตะวันตกก็มีความท้าทายที่แท้จริงในการปรับตัว เพื่อให้สามารถรับมือการแข่งขันกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียได้


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top