0

การ “ปฏิวัติ” เรื่องเพศของจีน
หลี่ ยิ่นเหอ เป็นสตรีที่ถือได้ว่าเป็นนักเพศวิทยาคนแรกของจีน เธอได้ติดตามศึกษาความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศของสังคมจีนมายาวนาน และลงความเห็นว่าสังคมจีนปัจจุบันมีทัศนคติต่อเรื่องเพศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เสมือนหนึ่งการ “ปฏิวัติ” เลยก็ว่าได้ ทั้งที่เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งเธอเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและกลับมาบ้าน จีนยังคงอยู่ภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยมทางเพศที่รับอิทธิพลมาจากลัทธิเหมา
จากการสำรวจของเธอเมื่อปี 1989 มีคนจีนเพียงร้อยละ 15.5 เท่านั้น ที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน แต่ในการสำรวจเมื่อสองปีก่อน คนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็นถึงร้อยละ 71 โดยช่วงก่อนปี 1997 การที่คู่รักมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานถือเป็นเรื่องผิดกฏหมายในจีน และมีโทษฐานก่อกวนความสงบเรียบร้อยของสังคม
ก่อนหน้านี้ ภาพลามกอนาจาร การค้าประเวณี และการจัดปาร์ตี้แลกเปลี่ยนคู่นอน ก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรงในทำนองเดียวกัน โดยเมื่อปี 1996 เจ้าของโรงอาบน้ำสาธารณะแห่งหนึ่งถูกลงโทษประหารชีวิต ฐานจัดให้มีการค้าประเวณีรวมอยู่ด้วย แต่ในทุกวันนี้ ความผิดแบบเดียวกันจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่สุดเพียงแค่ให้ปิดกิจการเท่านั้น สมัยนี้ไม่มีใครสนใจรายงานพฤติกรรมทางเพศส่วนตัวของคนอื่นต่อเจ้าหน้าที่ จึงไม่สู้จะมีการจับกุมลงโทษให้เห็น
สังคมจีนยังเปิดกว้างขึ้นต่อการพูดเรื่องความรักและเรื่องเพศที่ผิดแผกไปจากแบบแผนดั้งเดิม โดยในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองจีนใหม่ ๆ นั้น การพูดและเขียนเรื่องความรักเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะเป็นพฤติกรรมของชนชั้นกระฎุมพี ส่วนการเขียนหนังสือเรื่องเพศถูกห้ามจนถึงราวทศวรรษที่ 1980 โดยเมื่อหลี่ ยิ่นเหอ ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “วัฒนธรรมย่อยของคนรักเพศเดียวกัน” ของเธอเมื่อปี 1998 คนที่จะซื้อหนังสือนี้ได้จะต้องได้รับจดหมายเชิญจากนายจ้างหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงเป็นการเฉพาะเท่านั้น ส่วนหนังสือของเธออีกเล่มคือ “วัฒนธรรมย่อย ซาดิสม์-มาโซคิสม์” นั้น ทางการถึงกับสั่งเผาทิ้ง แต่ก่อนหน้านั้นก็จำหน่ายไปได้แล้วถึง 60,000 เล่ม ส่วนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมไบเซ็กชวลของเธอ ผู้พิมพ์ทุกรายในจีนต่างปฏิเสธการพิมพ์ จนเธอต้องไปหาผู้จัดพิมพ์ในฮ่องกงแทน
อย่างไรก็ตาม หลี่ ยิ่นเหอ มองว่าทุกวันนี้ทางการจีนเริ่มเห็นเรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น จนเธอสามารถมีอิสระในการเขียนและการวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสาเหตุที่รัฐบาลและสังคมจีนเปลี่ยนท่าทีในเรื่องนี้นั้น หลี่คิดว่าเป็นผลพวงมาจากนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งจีนบังคับใช้ในช่วงปี 1979-2015 โดยนโยบายนี้ทำให้คนไม่มุ่งให้ความสำคัญต่อการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้กำเนิดทายาทอีกต่อไป และการมีเพศสัมพันธ์เพื่อความสำราญมีการยอมรับกันมากขึ้น
ส่วนในเรื่องความหลากหลายทางเพศและกลุ่ม LGBT ในจีน หลี่บอกว่า มีการเปิดกว้างมากขึ้นเช่นกัน โดยพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ถูกลบออกจากบัญชีรายชื่อโรคจิตของทางการเมื่อปี 2011 และมีพื้นที่ของคนกลุ่ม LGBT มากขึ้นในสื่อสาธารณะ แทนที่จะถูกมองว่าไม่มีตัวตนในสังคมดังแต่ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สิทธิของคนรักเพศเดียวกันยังถูกจำกัดอยู่ โดยกฎหมายจีนยังไม่รับรองการแต่งงานของคนกลุ่มนี้
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ: คู่รักชาวจีนจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top