0



สันติภาพภาคใต้: คำถามใหญ่ รัฐบาลใหม่จะยอมรับสิ่งที่คสช.ทำหรือไม่
ตัวแทนไทยกับมารา ปาตานีรวมทั้งผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพรายงานความคืบหน้าของการหารือ ชี้ความท้าทายสำคัญคือการสร้างความไว้ใจระหว่างคู่กรณี ปัญหาความต่อเนื่องของฝ่ายรัฐบาลไทย และประเด็นว่ามารา ปาตานีจะเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่เพื่อต่อรองกับรัฐบาลได้อย่างไร มาเลเซียชี้ชัดในกลุ่มผู้เห็นต่างมีคนพร้อมขัดขวางกระบวนการสันติภาพ
วันนี้ 28 ก.พ.ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ได้มีการจัดงานโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งได้เชิญตัวแทนคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย กลุ่มมารา ปาตานี รวมทั้งผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยคือมาเลเซีย ให้รายงานความคืบหน้าของการพูดคุยที่มีเค้าว่ากำลังจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ในเวลาอีกไม่นานนัก ผู้แทนของมารา ปาตานีและผู้อำนวยความสะดวกต่างอัดเทปสิ่งที่ตนเองต้องการนำเสนอให้ไปเปิดในงาน หลายฝ่ายเริ่มต้นด้วยการทบทวนว่าสิ่งที่ได้จากการพูดคุยภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์คือการได้เริ่มกระบวนการที่นำสองฝ่ายมาพูดคุยกันโดยตรง
ดาโต๊ะซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยจากมาเลเซียเตือนว่าเส้นทางต่อไปจะไม่ราบรื่น แม้ว่าจะมีความร่วมมือกันอยู่ แต่เห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายไม่ไว้วางใจในกันและกันสูงมาก ขณะที่รัฐบาลยังเคลือบแคลงว่านายอาวังหรืออาแว ยาบะ ประธานกลุ่มมารา ปาตานีเป็นคนที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ และกลุ่มที่เข้าร่วมพูดคุยสามารถควบคุมการก่อเหตุในพื้นที่ได้จริงหรือไม่ ด้านกลุ่มผู้เห็นต่างเองก็มีคำถามว่า รัฐบาลไทยเอาจริงแค่ไหนในการพูดคุยหนนี้ ที่สำคัญรัฐบาลใหม่เข้ามาจะสานต่อหรือไม่ หรือว่าในที่สุดการพูดคุยจะกลายเป็นเพียงการหลอกให้แกนนำของกลุ่มออกมาเปิดเผยตัวเองเหมือนที่เคย การพูดคุยนั้น ทั้งสองฝ่ายมีมุมมองที่ต่างกันสุดขั้ว ฝ่ายรัฐบาลจะไม่ยอมให้อะไรเลยจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมยุติความรุนแรง ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างบอกว่า ต้องยอมตามข้อเรียกร้องก่อนไม่เช่นนั้นไม่ยุติความรุนแรง
ดาโต๊ะซัมซามินระบุด้วยว่า สิ่งที่ชัดเจนก็คือในกลุ่มผู้เห็นต่างมีคนที่ไม่เห็นด้วยและพร้อมจะหาวิธีการทำให้การพูดคุยล่ม แต่เขามองไม่เห็นว่าจะต้องรอให้ทุกฝ่ายพร้อมจึงจะพูดคุยได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยผ่านสื่อ ที่ผ่านมามีคนอ้างเป็นผู้แทนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ยิ่งสร้างความสับสนและบั่นทอนความน่าเชื่อถือของการพูดคุย ส่วนนายอาแว ยาบะนั้น ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซียระบุว่า เขาคือ “เป็นผู้นำบีอาร์เอ็นที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ขณะนี้ที่พร้อมจะเปิดหน้าแก่สาธารณะว่าเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการนี้” และอ้างว่า นายอาแวเองระบุชัดว่า หากมีคนอื่นที่เป็นตัวแทนสามารถทำงานได้ดีกว่าและพร้อมจะพูดจากับสาธารณะ เขาก็พร้อมจะหลีกทางให้ ดาโต๊ะซัมซามินพูดถึงการที่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับมารา ปาตานีให้เป็นตัวแทนกลุ่มเห็นต่างในการพูดคุยว่าเรื่องนี้จะมีส่วนบั่นทอนสถานภาพของมาราเอง
ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพบอกอีกว่า สิ่งที่น่ายินดีก็คือ นี่เป็นครั้งแรกของพื้นที่ก็ว่าได้ ที่ประเด็นนี้ได้รับการยอมรับเป็นประเด็นของทุกคนไม่ใช่แค่ของกลุ่มผู้เห็นต่างเท่านั้น เขาชี้ว่ากระบวนการสันติภาพนี้ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคมและกลุ่มต่างๆที่คิดว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียต้องถกกันและนำเสนอความเห็น ด้วยการตั้งตัวแทนนำความต้องการของตนเองเสนอผ่านคณะกรรมการกลางของมารา ปาตานี
ทางด้านนายอาแว ยาบะ ประธานกลุ่มมารา ปาตานีทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า การพูดคุยหนนั้นเห็นได้ชัดว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร ในขณะที่กลุ่มในพื้นที่เองก็ไม่ได้มองเห็นความสำคัญของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเต็มที่
ประธานของกลุ่มมารา ปาตานีระบุว่า สำหรับก้าวต่อไปนั้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้คนทั่วไปมีส่วนร่วม และมาราจะต้องเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่เพื่อการพูดคุยอย่างแท้จริง เขาระบุว่า ขณะนี้หลายฝ่ายยอมรับว่ามารา ปาตานีเป็นองค์กรการเมืองทำงานเพื่อคนในพื้นที่เพื่อจะต่อรองกับรัฐบาล การยอมรับมาราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ นอกจากนี้ที่ผ่านมามีคำถามถึงมาราว่า พวกเขาสามารถให้หลักประกันความปลอดภัยในพื้นที่ได้หรือไม่ ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็พยายามจะให้ความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องภายในเท่านั้น ส่วนมาราเองก็ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลไทยยึดมั่นจริงจังที่จะแสวงหาทางออกที่เป็นธรรม แก้ปัญหาโดยองค์รวมและยั่งยืนอันเป็นเป้าหมายของกลุ่มมารา ปาตานี เรื่องนี้ถือว่าเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยที่จะต้องพิสูจน์และสร้างความมั่นใจ
ในส่วนที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการพยายามลดแรงกดดันในเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยซึ่งไทยได้ออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการ อาแว ยาบะกล่าวว่า การกำหนดเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ทำไม่ได้ แต่ละฝ่ายมีมุมมองของตนที่แตกต่างกันออกไป เขายืนยันว่า เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องมาหารือร่วมกันก่อนที่จะมีประกาศใดๆออกไป
ด้านพลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของกระบวนการสันติภาพคือความมีเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ในเวลาเกือบสิบสองปีไทยมี 7 รัฐบาล เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรื่องของการพูดคุยได้รับการบรรจุเข้าเป็นวาระแห่งชาติแล้ว รอให้นโยบายนี้ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขบอกว่า ความท้าทายในเวลานี้คือทำอย่างไรให้การพูดคุยเดินหน้าต่อโดยไม่ล่มกลางคัน ขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายใดยื่นข้อเรียกร้องที่ทำไม่ได้ แต่ในขั้นต่อไปของการพบปะจะต้องมีการทดสอบความไว้ใจซึ่งกันและกันด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วม ส่วนในเรื่องของการยอมรับกลุ่มมารา ปาตานีนั้น รัฐบาลยังทำไม่ได้เพราะเห็นได้ชัดว่ามีปัญหาเพราะในขณะที่มีตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะพูดคุย ก็มีผู้อ้างเป็นตัวแทนออกยูทูปและให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง แต่ก็หาทางออกร่วมกันด้วยการใส่ในฟุตโน๊ตว่ากลุ่มผู้เห็นต่างที่ทางการพูดคุยด้วยในเวลานี้คือมารา ปาตานี
พลโทนักรบกล่าวด้วว่า ทางฝ่ายรัฐบาลมองว่า การยอมรับของคนในพื้นที่ต่อมารา ปาตานีเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ได้รับการยอมรับก็ยากจะพูดคุยกันได้ และขณะนี้เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่เองก็ยังไม่ได้รู้จักสมาชิกมารามากนัก พลโทนักรบยืนยันว่า การหาทางออกให้กับความขัดแย้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับ ภาคประชาสังคมต้องมีภาพในใจแล้วว่าควรจะมีทางออกอย่างไร แต่สิ่งสำคัญด้วยอีกอย่างคือจะทำอย่างไรให้สังคมภาพรวมยอมรับด้วยว่า สันติภาพคือทางออกที่ดีที่สุด
ในภาพดาโต๊ะซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยกล่าวกับผู้ฟังผ่านเทปบันทึก

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top