0

นักวิชาการเสนอรัฐเปิดวิพากษ์ รธน. เต็มที่ พร้อมเพิ่มตัวเลือกเวลาลงประชามติ เปิดทางใช้ รธน. ฉบับเก่า
เครือข่ายภาคประชาชนและนักกิจกรรมทางสังคมร่วมเวทีวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘มีชัย’ ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม หวั่นสิทธิของประชาชนลดลงหากให้รัฐดูแล ด้านนักวิชาการรัฐศาสตร์ชี้ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยเอารัฐเป็นศูนย์กลาง ทำรัฐให้ใหญ่ขึ้น เสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดก่อนลงประชามติ และมีตัวเลือกให้ประชาชนหากไม่รับร่างฉบับมีชัย
นายโคทม อารียา จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีนายมีชัยเป็นประธานในการร่างนั้น แม้จะมีข้อดีหลายข้อ แต่ก็มีสิ่งที่น่ากังวลอยู่มาก โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มากเกินไป การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการแทรกอำนาจให้อยู่เหนืออำนาจของรัฐบาล และการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก
นายโคทมเสนอด้วยว่า ควรนำเอามาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการลงคะแนนประชามติที่กำหนดให้ “ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคล ฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน” กลับมาใช้ และเสนอว่าควรเพิ่มคำถามในการลงประชามติ โดยให้ประชาชนเลือกว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการนำรัฐธรรมนูญบับใดมาปรับใช้ และจะประกาศใช้เมื่อใด นอกจากนี้ เขายังเสนอให้ใช้เวลาอีก 4 เดือนจากนี้ไปจนถึงก่อนลงประชามติ รัฐควรเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้จัดเวทีพูดคุยถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายยุทธพร อิสรชัย จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยเอารัฐเป็นตัวตั้ง และทำให้รัฐขยายตัวมากขึ้นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เขามองว่าสิ่งที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คือ เรื่องที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนนอก การให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญูซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยแท้ และการมีอำนาจสูงสุดคู่ขนานกัน ซึ่ง คสช.และมาตรา 44 จะมีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายยุทธพรเห็นเช่นเดียวกับนายโคทมว่าก่อนถึงการทำประชามติต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น และให้สังคมเห็นถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น ต้องให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เขาเห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วไม่ต่างไปจากร่างแรก เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่รับ
ขณะที่นายสุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เห็นว่า คสช.ควรยกเลิกคำสั่งห้ามการชุมนุมเกินห้าคน เนื่องจากมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะบังคับใช้อยู่แล้ว และต้องให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่อยู่บนความกลัว และไม่ถูกตีความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ขณะที่นายปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมทางสังคม เสนอว่าควรยกเลิกมาตรา 44 ก่อนที่จะถึงวันลงประชามติ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง กล่าวว่า กรธ.ควรรับฟังความเห็นที่หลากหลายให้มาก และนำไปปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนให้มากที่สุด ส่วนการเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.นั้น เขากล่าวว่าจะต้องมองอีกด้านหนึ่งด้วยว่า จะมีวิธีป้องกันเมื่อมีการชุมนุมแล้วเกิดปัญหาความขัดแย้ง มีผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างไรด้วย และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอาจต้องถูกจำกัดในบางเรื่องเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ยกเว้นการแสดงความเห็นในเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และกล่าวว่า การลงคะแนนประชามติควรยึดหลักว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญดีจริงก็ควรให้ผ่าน ถ้าไม่ดีก็ไม่ควรให้ผ่าน
การเสวนาดังกล่าวจัดโดยเครือข่ายเว็บไซต์ "ประชามติ" ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันแจ้งว่า การเสวนาดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.ก่อน จึงมีการย้ายสถานที่จัดงานไปยังสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top