0


ลัทธิบูชามะม่วงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน

เมื่อ 50 ปีก่อน จีนตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เบนจามิน รามม์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า ในช่วงนี้เองได้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่แปลกประหลาดขึ้น นั่นคือการที่มะม่วงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อลัทธิบูชาประธานเหมา เจ๋อตุง จนทำให้ผลไม้ชนิดนี้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนให้ความเคารพอย่างสูง
ในปี พ.ศ. 2509 ประธานเหมาได้ปลุกระดมให้กลุ่มยุวชนแดง หรือ เรดการ์ด ลุกฮือขึ้นต่อต้านทางการที่มีแนวคิดฝ่ายขวา เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมจีนและขจัดแนวคิดแบบชนชั้นกลางในสังคม ทว่าในอีก 2 ปีถัดมาจีนได้ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งวุ่นวาย เนื่องจากเรดการ์ดกลุ่มต่าง ๆได้ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง ส่งผลให้ประธานเหมาต้องส่งคนงาน 30,000 คนไประงับเหตุที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ในกรุงปักกิ่ง แต่นักศึกษากลับทำร้ายคนงานเหล่านี้จนเสียชีวิตไป 5 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 700 คน กว่าที่นักศึกษาจะยอมแพ้ในที่สุด
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประธานเหมาได้ส่งมะม่วงประมาณ 40 ลูกที่ได้รับเป็นของขวัญจากรัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ซึ่งถือเป็นผลไม้จากต่างแดนที่หาทานยากในสมัยนั้น ไปแสดงความขอบคุณคนงานกลุ่มนี้ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิบูชามะม่วงในจีน เนื่องจากคนงานเหล่านี้มองว่า มะม่วงเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ประธานเหมามีต่อคนงาน ทั้งยังถูกนำไปเปรียบกับเห็ดหลินจือที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ และลูกท้อซึ่งเป็นตัวแทนของการมีอายุยืนยาว โดยคนงานมองว่า ของขวัญดังกล่าวแสดงถึงความไม่เห็นแก่ตัวของประธานเหมาที่ยอมเสียสละการมีอายุยืนยาวให้แก่เหล่าคนงาน
จาง กุ่ย หนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า ผู้แทนทหารได้นำมะม่วงจากประธานเหมาไปมอบให้โรงงานที่เขาทำงานอยู่ แต่บรรดาคนงานตกลงกันว่าจะเก็บรักษามะม่วงนี้ไว้เป็นที่ระลึกด้วยการติดต่อให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งช่วยฉีดน้ำยาฟอร์มาลีนให้ จากนั้นได้หล่อมะม่วงจำลองจากขี้ผึ้งแล้วนำไปแจกจ่ายให้คนงาน ซึ่งต่างให้ความเคารพมะม่วง เพราะมองว่าเปรียบเสมือนตัวแทนของประธานเหมา บางแห่งได้นำมะม่วงไปตั้งไว้ที่แท่นบูชา เพื่อให้คนงานได้เคารพสักการะ
นอกจากนี้ รูปมะม่วงยังปรากฏอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันต่าง ๆของชาวจีนในยุคนั้น เช่น ผ้าปูที่นอน โต๊ะเครื่องแป้ง ถาด สบู่กลิ่นมะม่วง และบุหรี่รสมะม่วง เป็นต้น แต่กระแสบูชามะม่วงดำเนินไปเพียง 18 เดือนก็เสื่อมความนิยมลงในที่สุด แม้ปัจจุบันมะม่วงถือเป็นผลไม้ที่หาทานได้ทั่วไปในกรุงปักกิ่งและไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป แต่ หวัง เสี่ยวผิง อดีตคนงานของโรงปฏิบัติงานเครื่องกลหมายเลข 1 ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเคยได้รับมะม่วงจำลอง บอกว่าคนรุ่นเธอยังมีความรู้สึกพิเศษทุกครั้งที่นึกถึงผลไม้ชนิดนี้

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top