0


กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขอให้ทหารช่วย ชี้ทำโครงการในพื้นที่อ่อนไหวควรระวังไม่สร้างเงื่อนไข
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ค่ายสิรินธร ยะลา ตัวแทนชาวบ้านและนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการได้เข้าพบและยื่นจดหมายต่อ พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาค 4 เพื่อขอให้ช่วยเหลือด้วยการดูแลปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นซึ่งรองแม่ทัพภาค 4 รับปากว่าจะนำเรื่องเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อให้พิจารณาต่อไป และเห็นว่าการที่ตัวแทนผู้คัดค้านนำเรื่องเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ถือเป็นสิ่งที่ดีที่
นายดิเรก เหมนคร ตัวแทนผู้คัดค้านที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า กลุ่มผู้คัดค้านเห็นว่าสถานที่ก่อสร้างโครงการไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากมีบ้านเรือนประชาชนอยู่ถึง 400 ครอบครัว ทำให้หวั่นเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีไม่เฉพาะในรัศมีรอบบริเวณแค่ 5 กิโลเมตรตามที่มีการนำเสนอผลการศึกษาออกมา แต่ผลกระทบจะกว้างไกลไปถึงบางส่วนในปัตตานี และที่อื่น ๆ เนื่องจากสภาพนิเวศน์ที่เชื่อมโยงถึงกันของพื้นที่ดังกล่าว และเชื่อว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบแท้จริงจะกว้างในระดับ 10 กิโลเมตร นอกจากนั้นพื้นที่นี้มีทั้งมัสยิด กุโบร์หรือที่ฝังศพ และวัด ซึ่งมีเพียงที่เดียวทั้งตำบล การที่มีมัสยิดและกุโบร์หมายถึงว่าชาวบ้านจะต้องใช้สถานที่อย่างสม่ำเสมอ การนำไปก่อสร้างโครงการจึงไม่เหมาะสม นอกจากนี้ กระบวนการตัดสินใจก็ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่คัดค้านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น
ในระหว่างการนำเสนอปัญหาของชาวบ้าน พล.ท.มณีได้กล่าวกับกลุ่มตัวแทนว่า อยากให้ชาวบ้านเองพิจารณาข้อมูลหลากหลายด้านเพราะชุมชนก็มีความจำเป็นในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้านชาวบ้านกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานผลิตไฟเนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนและสิ่งแวดล้อม
นายดิเรกให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ยื่นจดหมายแล้วว่า การที่ไปขอให้ทหารดูแลปัญหานี้เนื่องจากที่ผ่านมามีความขัดแย้งในกลุ่มประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง กล่าวคือมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยถูกข่มขู่ต่าง ๆ นานา รวมทั้งมีข่าวลืออ้างว่า โครงการนี้มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง อันเป็นการนำชื่อทหารไปข่มขู่ชาวบ้าน จึงต้องมานำเสนอปัญหากับเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องนี้กับรองแม่ทัพแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีการรับปากใด ๆ แต่ก็สบายใจระดับหนึ่งเพราะได้บอกเล่าให้เจ้าหน้าที่รับทราบในเรื่องที่เกิดขึ้น นายดิเรกชี้ว่า ขณะนี้ประชาชนในปัตตานีเริ่มเข้าใจว่ากลุ่มตนก็จะได้รับผลกระทบด้วย หลายคนจึงเข้าร่วมกับทางกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการ
นายดิเรกกล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายอยากให้ทางการระมัดระวังเพราะว่าการเลือกพื้นที่ที่อ่อนไหว บวกกับการที่คนในพื้นที่ได้ข้อมูลจากข่าวเช่นนี้ ในสภาพที่ถูกกดทับมานานอาจจะมีความรู้สึกได้ว่าหน่วยงานรัฐไม่จริงใจกับพวกเขา ทำให้เกิดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ความขัดแย้งนี้ได้
ด้านนายหมิด ชายแต้ม จากตำบลปากบาง เทพา สงขลากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตนได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้วเรื่องถูกข่มขู่คุกคาม เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 มีเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นที่สนับสนุนโครงการไปข่มขู่ถึงบ้านว่าจะประทุษร้ายร่างกายถึงขั้นจะใช้อาวุธ

Loading video....
Posted by บีบีซีไทย - BBC Thai on Monday, January 25, 2016

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top