0

ประเด็นท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2559
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 จะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ที่ 3.0% นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกบีบีซีไทย เชื่อว่าเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยจะทรงตัวและเดินหน้าไปได้ แต่ประเด็นที่ยังคงน่าเป็นห่วงคือราคาพืชผลทางการเกษตรจะยังคงตกต่ำ เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่เห็นวี่แววว่ามีปัจจัยไหนที่จะหนุนให้ราคากระเตื้องขึ้น และหากจะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งในปี 2559 อีก สถานการณ์สำหรับเกษตรกร รวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็จะยังไม่ดีขึ้น
กรณีปัญหาภัยแล้ง อดีตรมว. คลังเห็นว่า ขณะนี้ไม่เห็นวี่แววการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหา และหากประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งในระยะยาว ควรจะต้องศึกษาจากประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเป็นระบบ เช่น อิสราเอล ที่ถือว่าน้ำเป็นทรัพยากรของชาติ การใช้น้ำต้องขออนุญาต ซึ่งจะทำให้รัฐมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากกว่า ณ ปัจจุบันที่ถือว่าเป็นของฟรี ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้แบบไม่จำกัด นอกจากนั้นภาครัฐจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาระบบน้ำและการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เช่น ระบบการใช้น้ำหยดในพื้นที่การเกษตร และควรมีนโยบายระดับประเทศที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งน้ำและการใช้น้ำได้ตลอดทั้งปี โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เพราะประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน
ส่วนการลงทุนของภาครัฐนั้น อดีตรมว. คลังเห็นว่า รัฐบาลพยายามพัฒนาระบบคมนาคมและโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่แสดงความเป็นห่วงว่า มีหลายเรื่องที่ยังขาดความโปร่งใสและความชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนกับจีนและเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟของจีน เพราะเป็นโครงการที่มีเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งจะมีรัฐบาลอีกหลายชุดเข้ามาแบกภาระรับผิดชอบในอนาคต
ด้านการส่งออกที่ปี 2558 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อในตลาดโลกที่ซบเซานั้น นายกรณ์ชี้ว่าความซบเซาในตลาดโลก เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กระทบต่อการส่งออก แต่สาเหตุหลักอีกข้อมาจาก การที่ประเทศไทยยังขาดการตกผลึกในเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะต้องทำเรื่องไหนบ้าง นอกจากนั้น ไทยยังก้าวตามตลาดโลกไม่ทัน ไม่ได้ผลิตสินค้าที่ชาวโลกต้องการ เช่น ในกรณีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีการพัฒนาประเภทสินค้าให้มีความหลากหลาย เนื่องจากขาดเรื่องนวัตกรรม ขาดการลงทุน โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง รวมถึงการลงทุนในการสร้างดิจิตอล อีโคโนมี
อดีตรมว. คลังชี้ว่าไทยจะต้องปรับตัวในระบบการปฏิรูป และวางโพซิชันของประเทศใหม่ เพราะรูปแบบเศรษฐกิจที่เป็นที่มาของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ถือว่ารวดเร็วกว่าเกือบทุกประเทศในโลก ได้เปลี่ยนไปแล้ว จะต้องมีการทบทวนนโยบายการลงทุนและทุกอย่างใหม่หมด ต้องถอยกลับมาพิจารณาใหม่ว่าไทยจะเน้นการผลิตหรือการบริการภาคใดบ้าง และกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนแต่ละเรื่องให้ชัดเจนมากกว่าที่มีในปัจจุบัน
นายกรณ์ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย ซึ่งปัจจุบันถือว่าเข้าเกณฑ์แล้ว เพราะสัดส่วนประชากรที่อยู่ในวัยเกษียณ มีเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประชากรโดยรวม อดีตรมว. คลังเห็นว่าไทยจะมีปัญหาเรื่องแรงงานหนักหน่วงขึ้น ทั้งแรงงานคุณภาพและด้อยฝีมือ โดย “เราเริ่มจะแก่ในขณะที่เรายังจน” และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ คนไทยที่อยู่ในวัยทำงาน ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันในวัยชรา ซึ่งต่อไปจะเป็นภาระต่อรัฐบาลและสังคมในอนาคตอย่างมาก
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ)




แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top