0

ใครได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ถูกลง
การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลต่อการแบ่งสรรปันส่วนรายได้ของทั้งผู้ซื้อและผู้ค้าน้ำมัน แต่สำหรับหลายคนการที่ราคาน้ำมันลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว (2557) ทำให้โล่งใจไปได้หลายเปลาะ
แอนดูว์ วอล์คเกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่าการลดลงของราคาน้ำมันก็เปรียบได้กับการที่คนทั่วไปเสียภาษีน้อยลง ทำให้มีเงินเหลือไปใช้ซื้อสิ่งของและบริการได้มากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจ ราคาน้ำมันลดลงก็หมายถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลงนั่นเอง
ในเวลาเดียวกันหากมองในแง่ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างในเขตยูโรโซนและสหราชอาณาจักร ช่วงสองปีก่อนหน้าการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนหดตัว ราคาน้ำมันที่ลดลงนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต แม้จะไม่ถึงขั้นเฟื่องฟูก็ตาม
สหราชอาณาจักรก็เช่นกัน เศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้วและปีนี้เติบโตมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า แต่แน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมน้ำมันที่นี่เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบ ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ประเมินว่าหากราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลนานห้าปี (ปัจจุบันยังไม่ถึง) จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจอังกฤษได้ราว 1%
ในบางประเทศแม้จะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันทั้งหมด แต่อาจมีปัจจัยอื่นมากระทบทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน อย่างกรณีของจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากปัจจัยอื่น ทำให้เศรษฐกิจที่เคยขยายตัวอย่างรวดเร็วจนน่าอันตรายกลายเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และจริงๆ แล้ว การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันอ่อนค่าลง แม้ว่าสาเหตุหลักจะมาจากการมีปริมาณน้ำมันสำรองเหลือเฟือก็ตาม
สำหรับญี่ปุ่นซึ่งแทบจะพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงก็ยังไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจในไตรมาสสองและสามของปีนี้ให้พ้นจากภาวะตกต่ำได้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นจะยังคงปวกเปียก หลังจากหดตัวเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับประเทศที่มีการอุดหนุนด้านพลังงานนั้น สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศประเมินว่าเมื่อปีที่แล้ว การให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงจากถ่านหินมีมูลค่าถึงเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นเชื้อเพลิงจากน้ำมันมูลค่า 267,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การที่ราคาน้ำมันถูกลงหมายความว่ารัฐบาลสามารถลดการอุดหนุนลงได้โดยที่ผู้บริโภคยังจ่ายเงินซื้อน้ำมันในราคาเดิม แต่หากราคาน้ำมันฟื้นตัวเมื่อใด ราคาน้ำมันก็จะปรับสูงตามไปด้วย ที่ผ่านมา อินเดีย อียิปต์ อินโดนีเซียและอีกหลายประเทศ ได้ตัดสินใจลดการอุดหนุนลงแล้ว
การลดลงของราคาน้ำมันไม่ได้มีเฉพาะผลดีเพียงอย่างเดียว ผลเสียก็มีเช่นกันอย่างที่เกิดกับสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ขุดน้ำมันจากชั้นหินดาน (Shale oil) มาใช้จำนวนมหาศาล ซึ่งหมายถึงว่าสหรัฐฯ พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นแทนที่จะได้ผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับจะอ่อนไหวมากกว่า
ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ที่มีอุตสาหกรรมน้ำมันขนาดใหญ่อย่างสหราชอาณาจักร บราซิล และอินโดนีเซีย รัฐบาลของประเทศเหล่านี้สูญเสียรายได้จากภาษีบางประเภทลดลง แต่มีแนวโน้มจะได้ภาษีจากรายรับ การใช้จ่ายของผู้บริโภคและจากกำไรของภาคธุรกิจอื่นมากขึ้น
สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของภาวะเงินฝืด เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาก อย่างกรณีของสหราชอาณาจักร ยูโรโซน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รัฐบาลกลางของประเทศเหล่านี้ต้องการคงอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% แต่ในความเป็นจริงอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่านั้นมาก หากมีเพียงราคาพลังงานเท่านั้นที่ปรับตัวลดลงก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้เป็นห่วงคือสิ่งที่เรียกว่าภาวะวิกฤตรอบสอง คือแม้ราคาสินค้าจะปรับตัวลดลง แต่ในเวลาเดียวกันรายรับของผู้บริโภคหรือภาคธุรกิจไม่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่าย จุดนี้จะนำไปสู่การเกิดวงจรของปัญหาคือทำให้ทั้งราคาสินค้าตกต่ำและทำให้เกิดภาวะเงินฝืด


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top