0

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราไม่ล้มเผด็จการที่ครองเมืองในปัจจุบัน มันจะครองอำนาจต่อไปโดยแปรรูปไปเป็นระบบเผด็จการที่ซ่อนตัวอยู่หลังหน้ากากประชาธิปไตยปลอม

สิ่งที่สังคมไทยควรจะมีตอนนี้คือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” ที่รณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และรวมทุกกลุ่มที่รักประชาธิปไตยเข้าด้วยกันภายใต้การนำแบบหมู่คณะ เพราะตอนนี้เรามีแต่กลุ่มเล็กๆ หลากหลาย ที่ล้วนแต่หวงความอิสระของตนเองจนไม่รู้จักยุทธวิธีแห่งการเคลื่อนไหวมวลชนที่มีพลัง สภาพเช่นนี้แสดงให้เห็นว่านักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุคปัจจุบัน ยกความสำคัญของตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง เหนือเป้าหมายที่สำคัญสุด คือการล้มเผด็จการ และนอกจากนี้มันแสดงให้เห็นว่านักเคลื่อนไหวยุคนี้ไม่สนใจที่จะลงแรงสร้างแนวร่วมกับคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของตนเองอย่างจริงจัง สาเหตุหนึ่งคือ “ความขี้เกียจ” ในการทำงานการเมือง และความต้องการที่จะทำอะไรง่ายๆ หรือหาทางลัด อีกสาเหตุหนึ่งคือความด้อยในการเข้าใจทฤษฏีการเมืองที่ถกเถียงกันในระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องการต่อสู้ทางสังคม

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนี้ ควรจะเคลื่อนไหว ไม่ใช่หดตัวรอวันข้างหน้า และแน่นอนก็ต้องระมัดระวังตัวในการจัดกิจกรรม แต่ต้องกล้าหน่อย การเคลื่อนไหวของนักศึกษา พลเมืองโต้กลับและกลุ่มอื่นๆ พิสูจน์ว่าการเคลื่อนไหวทำได้ แต่ทั้งๆ ที่กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้แสดงความกล้าหาญที่น่าทึ่ง กลุ่มดังกล่าวดูเหมือนไม่สนใจจะสู้เพื่อล้มเผด็จการอย่างจริงจัง เพราะหลงเชื่อว่าการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์จะนำประชาธิปไตยกลับสู่สังคมไทยได้ หรือหลงเชื่อว่าการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ จะกระตุ้นให้มวลชนลุกขึ้นสู้โดยไม่ต้องลงแรงสร้างขบวนการ

บทเรียนจากพม่าสอนให้เราเข้าใจได้ว่าการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ของอองซานซูจี มีผลในการสลายพลังมวลชน และนำไปสู่การสืบทอดอำนาจทหารภายใต้ฉากการเลือกตั้งจอมปลอม เผด็จการทหารไทยก็ต้องการสภาพแบบนี้

เราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะถ้าเราจะเผชิญหน้ากับอำนาจของทหารและชนชั้น “อำมาตย์” เราก็ต้องมีอำนาจเช่นกัน อำนาจในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามมาจากพลังมวลชน และไม่ได้มาจากกลุ่มเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนติดอาวุธ หรือกลุ่มคนที่แค่ใช้อินเตอร์เน็ดหรือเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เรื่องนี้ควรจะมีการถกเถียงกันอย่างจริงจังในหมู่นักเคลื่อนไหว โดยเรียนบทเรียนจากทั่วโลกรวมถึงไทย

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แตกต่างจาก “เครือข่าย” ของกลุ่มต่างๆ ที่รักษาความอิสระและบางครั้งเคลื่อนไหวในประเด็นเดียวที่แตกต่างกัน มันเป็นวิธีการที่ใช้ในกลุ่มเอ็นจีโอมานาน และล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มันเป็นสาเหตุหนึ่งที่เอ็นจีโอหลายส่วนไปเข้ากับคนที่เรียกร้องรัฐประหาร เครือข่ายกลุ่มต่างๆ เป็นแค่วิธีแลกเปลี่ยนส่งข่าวกัน ซึ่งดี แต่ไม่พอ และมันคือสถานการณ์ปัจจุบันมานานเกินไปแล้ว

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นแนวร่วมปฏิบัติการที่พูดและเคลื่อนไหวด้วยเสียงเดียวกันเป้าหมายเดียวกัน แต่ละบุคคลหรือกลุ่มที่เข้าร่วมต้องแสวงหาจุดร่วม และฟังเสียงมติคนส่วนใหญ่ ซึ่งแปลว่าต้องประนีประนอมกัน ในไทยปัจจุบันยังไม่มีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยหลังจากที่ นปช. ถูกแช่แข็งจนใกล้ตาย

เวลาเราพูดถึงเสื้อแดง นปช. เราก็ต้องเรียนบทเรียนจากความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอันนี้ เพราะความล้มเหลวมาจากการที่ นปช. ผูกติดกับนักการเมืองฝ่ายทักษิณมากเกินไป จนการนำขบวนการมาจากพรรคเพื่อไทยและคนของทักษิณ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ต้องการล้มเผด็จการอย่างถอนรากถอนโคน สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่การจัดตั้งเสื้อแดงมีลักษณะการเคลื่อนไหวเองของรากหญ้ามากพอสมควร ดังนั้นเวลาเราจะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรอบใหม่ เราไม่ควรให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดการนำ ต้องนำร่วมกันเป็นหมู่คณะ โดยไม่มีอคติกัน ไม่มีระบบอาวุโส และกล้ามีจุดยืนแตกต่างกันทั้งๆ ที่มาร่วมสู้ด้วยกันได้ภายใต้การแสวงจุดร่วมที่กำหนดโดยการเคารพมติเสียงส่วนใหญ่

สำหรับนักสังคมนิยม ซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยอันนี้ ในขณะที่เราควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย เราก็ต้องสร้างองค์กรสังคมนิยมมาร์คซิสต์ของเราเอง ต้องมีกลุ่มศึกษา ต้องมีสื่อ ต้องมีทฤษฏี ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ และต้องขยายสมาชิก เพราะถ้าไม่สร้างองค์กรของเราแบบนี้ เราก็จะไม่มีอะไรที่จะไปเป็นแนวร่วมกับคนอื่น และไม่มีอะไรที่จะเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้

องค์กรทางการเมืองสังคมนิยม จะมีหน้าที่พยายามเชื่อมระหว่างคนหนุ่มสาวกับแรงงาน เพราะสองกลุ่มนี้มีพลัง แต่เราจะไม่ไปหวัง “ครอบงำ” ใคร เราจะเสนอการนำ และในที่สุดส่วนต่างๆ ของมวลชนก็ต้องตัดสินใจเอง

องค์กรสังคมนิยมต้องผลักดันการเมืองภาพกว้างตลอดเวลา เพื่อขยายความรู้ เราไม่ควร “ปรับ” การศึกษาให้ตรงกับแค่ประเด็นปัญหาปากท้องหรือประเด็นเฉพาะหน้าของกลุ่มต่างๆ เท่านั้น เพราะถ้าเราไม่มีความเข้าใจในการเมืองภาพกว้าง เราจะไม่มีปัญญาที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เสมอ

ในทางทฤษฏี นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ เราจะเน้นพลังของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคม และไม่ไปเพ้อฝันเรื่องชนชั้นกลางที่ตอนนี้ปรากฏตัวเป็นสลิ่มอย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีกลุ่มคนในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางความคิดโดยอัตโนมัติ มันต้องมีการเสนอความคิดแข่งกับความคิดกระแสหลักเสมอ

นักมาร์คซิสต์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เชื่อมโยงการต่อสู้ที่ดูเหมือนแยกส่วนหลากหลาย ระหว่างยุคต่างๆ และเราจะมองสายสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับสังคมประเทศอื่นๆ ในระดับสากลอีกด้วย การลุกฮือ ๑๔ ตุลา และการคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกาในยุคนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลุกฮือของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส จีน และสหรัฐ และการต่อสู้ของชาวเวียดนาม การลุกฮือของเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์กับ ๑๔ ตุลาในอดีต และสิ่งที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลาง รวมถึงการล้มเผด็จการที่อื่นอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่สุดที่เราควรเน้นเพื่อร่วมคิดกัน คือเรื่องของ “พลัง” หรือ “อำนาจ” ในการล้มเผด็จการว่ามันจะมาจากส่วนไหนบ้างของสังคม และมาจากการต่อสู้ในรูปแบบไหน



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top