0

ชี้เด็กชาว “โอรัง อัสลี” หลงป่าเสียชีวิตในมาเลเซีย เพราะทางการละเลยชนกลุ่มน้อย
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา เกิดเหตุน่าสลดใจของเด็ก 7 คนซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่มาเลเซียเรียกว่า “โอรัง อัสลี” หรือที่คนไทยเรียกว่าเงาะป่าซาไก หรือ เซมัง หลบหนีออกจากโรงเรียนประจำ แล้วพลัดหลงในป่าทึบ แต่เนื่องจากทางการตัดสินใจออกค้นหาเด็กกลุ่มนี้ล่าช้า ทำให้ 7 สัปดาห์ต่อมา พบเด็กรอดชีวิตอยู่เพียง 2 คน ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะสร้างความตกตะลึง แต่ยังก่อให้เกิดคำถามถึงเรื่องการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านี้
โอรัง อัสลี เป็นชื่อเรียกชนพื้นเมืองกลุ่มแรกๆที่อาศัยบนคาบสมุทรมลายู โดยชนพื้นเมืองเหล่านี้มีอยู่ด้วยกัน 18 กลุ่ม ซึ่งเด็กนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า “ทาเมียร์” อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกัมปง ปีนัด ทางภาคเหนือของมาเลเซีย ใกล้กับชายแดนไทย
ด้วยความที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร ผู้ปกครองชาวทาเมียร์จึงนิยมส่งลูกหลานไปเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำ แต่การที่ครูมักลงโทษเด็กชนพื้นเมืองเหล่านี้ด้วยวิธีการรุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็ทำให้เด็ก 7 คน อายุระหว่าง 7-11 ปี ตัดสินใจหลบหนีออกจากโรงเรียนเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากกลัวว่าจะถูกเฆี่ยน หลังจากเด็กโตคนหนึ่งถูกครูตีไปก่อนหน้านี้เพราะแอบลงไปเล่นน้ำในแม่น้ำ
7 สัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่พบเด็กรอดชีวิตจากการหลงป่าเพียง 2 คน คือ ด.ญ.นูรีน ยาคอบ วัย 10 ปี และด.ญ.มิกสุเดียร์ อาลุจ วัย 11 ปี ส่วนที่เหลือ ซึ่งรวมถึงน้องชายวัย 7 ขวบของด.ญ.นูรีน เสียชีวิตจากการจมน้ำ ขาดอาหาร ขาหัก และถูกต้นไผ่แทงขณะพลัดตกผาชัน โดยตอนที่ได้รับการช่วยเหลือเด็กหญิงทั้งสองก็อยู่ในสภาพใกล้เสียชีวิตเช่นกัน เพราะประทังชีวิตด้วยใบไม้ในป่า
กรณีที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดคำถามว่า เหตุใดทั้งตำรวจและทหารที่ออกค้นหาเด็ก ๆด้วยสุนัขดมกลิ่นและเฮลิคอปเตอร์ จึงใช้เวลานานนักทั้งที่เด็กถูกพบในระยะไม่ถึง 2 กม.จากโรงเรียน ผู้เกี่ยวข้องชี้ว่า น่าจะเป็นเพราะทางการไม่ได้เริ่มออกค้นหาในทันทีที่ได้รับแจ้ง แต่กลับไปค้นบ้านหลายหลัง เพราะคิดว่าผู้ปกครองเอาเด็กไปซ่อน ขณะที่คนบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงพรรคฝ่ายค้านวิจารณ์ว่าทางการละเลย และไม่กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเด็กชนพื้นเมืองเหล่านี้
ด้านทนายความของเด็กทั้งสองกำลังเก็บข้อมูลเพื่อดำเนินคดีต่อทั้งโรงเรียนและรัฐบาลมาเลเซีย และแม้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย จะระบุว่า รัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆชนพื้นเมืองของประเทศ แต่ก็มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการที่เด็กเหล่านี้ถูกครูปฏิบัติอย่างเลวร้าย เด็กบางคนถูกครูลงโทษทำร้ายร่างกาย หรือถูกบังคับให้ท่องบทสวดของศาสนาอิสลามทั้งที่พวกเขาไม่ใช่มุสลิม
โคลิน นิโคลส์ แห่งศูนย์ Centre for Orang Asli Concerns ซึ่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มชนพื้นเมืองในมาเลเซีย บอกว่า รัฐบาลไม่สนใจจะคุ้มครองอัตลักษณ์ของคนเหล่านี้ และพวกเขากำลังถูกกลืนเข้าไปในรัฐชาติที่คนเชื้อสายมาเลย์เป็นใหญ่


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top