0

2558 ปีแห่งวิกฤติผู้อพยพ ไอเอส และปูติน
จอห์น ซิมป์สัน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของบีบีซี ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด เขาชี้ว่าปี 2558 เป็นปีที่โลกเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพ เป็นปีที่กลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) แผ่ขยายอิทธิพล และเป็นปีที่สถานะบนเวทีโลกของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเปลี่ยนไป
รอบปีที่ผ่านมาคนทั่วโลกได้เห็นภาพของผู้อพยพที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมุ่งหน้าหาที่ลี้ภัยและชีวิตใหม่ในยุโรป แต่ก็ใช่ว่าผู้อพยพทุกรายจะหลบหนีการประหัตประหาร บรรณาธิการข่าวต่างประเทศบีบีซีได้พูดคุยกับผู้อพยพที่ถูกจำคุกอยู่ในกรุงตริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย โดยคนเหล่านี้เป็นชายอายุ 20-30 ปี ส่วนใหญ่มาจากแถบแอฟริกาตะวันตกและปากีสถานซึ่งพยายามลักลอบเข้ายุโรปเพื่อหางานทำ
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ยังได้พบกับกลุ่มนักค้ามนุษย์ที่ทางการลิเบียจับกุมไว้ด้วย โดยผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองรายหนึ่งได้รับโทษจำคุกนานหลายปี จากคดีที่เรือซึ่งเขาใช้ขนผู้อพยพอับปางเมื่อช่วงต้นปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไป 700 คน
ส่วนสถานการณ์ในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความมั่งคง ภายหลังที่สหรัฐฯ และอังกฤษถอนกำลังทหารออกไป ก็เป็นเรื่องที่ถูกจับตามองในรอบปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยข่าวที่กลุ่มไอเอสยึดเมืองรามาดี ของอิรักได้สำเร็จเมื่อเดือน พ.ค.นั้น ได้สร้างความตกตะลึงและแสดงให้เห็นว่าไอเอสประสบความสำเร็จในการใช้ความโหดเหี้ยม สร้างความหวาดกลัวให้กับทหารอิรัก แม้ล่าสุดทางการอิรักจะชิงเมืองดังกล่าวคืนจากไอเอสได้แล้ว แต่ก็ใช้เวลานานถึง 7 เดือน
ในอัฟกานิสถาน ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่าได้เห็นความแตกต่างและความขัดแย้งระหว่างนักรบจิฮัดกลุ่มตาลีบันที่บุกยึดจังหวัดเฮลมานด์ รวมทั้งอีกหลายพื้นที่ในอัฟกานิสถาน กับกลุ่มไอเอสที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้าไปในอัฟกานิสถาน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ตาลีบันส่งนักรบของตนไปจัดการกับไอเอส
ส่วนในลิเบียนั้น การที่รัฐบาล 2 ชุดไม่สามารถตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้นั้น ทำให้ไอเอสรุกคืบเข้าไปขยายอิทธิพลในประเทศ แม้ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณว่าไอเอสสามารถยึดครองลิเบียได้ก็ตาม ทว่านับแต่การโค่นล้มอำนาจของพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี พ.ศ. 2554 ก็ทำให้ลิเบียเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพอย่างหนัก และแม้สถานการณ์ในเมืองหลวงจะอยู่ในความสงบ แต่ปัญหาการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่กลับพุ่งสูงขึ้น
รอบปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กลับเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองโลกอีกครั้ง หลังจากเมื่อปีก่อนรัสเซียถูกประชาคมโลกคว่ำบาตรอย่างหนัก กรณีที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน โดยเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา นายปูติน สามารถควบคุมทิศทางการประชุมสุดยอดระหว่างฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และยูเครน ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปารีสได้อย่างงดงาม เพราะเดิมการประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายหารือเรื่องยูเครน ทว่าผู้นำรัสเซียกลับใช้การประชุมนี้ เป็นเวทีที่ทำให้เขาเข้าไปร่วมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติตะวันตกในการปราบปรามกลุ่มไอเอสในซีเรีย
บรรณาธิการข่าวต่างประเทศบีบีซี บอกว่า ความร่วมมือดังกล่าวของชาติตะวันตก รัสเซีย อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างแต่ก็น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของไอเอสในปีหน้า
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ภาพ 1 ผู้อพยพขณะเดินทางผ่านประเทศสโลวีเนีย, ภาพ 2 ทหารอิรักชิงเมืองรามาดีกลับคืนมาได้, ภาพ 3 ทหารอัฟกานิสถานในเมืองคุนดุซ, ภาพ 4 ประธานาธิบดีปูตินกับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ในการประชุมเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top