0

มหาวิทยาลัยในยุโรปนิยมควบรวมกับสถาบันอื่นมากขึ้น
มหาวิทยาลัยในยุโรปหันมาให้ความสนใจเรื่องการควบรวม หรือการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพื่อช่วยเลื่อนชั้นในตารางการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกให้สูงขึ้น และรับมือกับภาวะจำนวนนักศึกษาที่ลดลง
นับแต่ปี 2543 มีการควบรวมมหาวิทยาลัยในยุโรปเกือบ 100 ครั้ง สมาคมมหาวิทยาลัยแห่งยุโรป (อียูเอ) ได้ทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพบว่ามีการควบรวมมหาวิทยาลัย หรือการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยเดนมาร์กและเอสโตเนียเริ่มต้นเป็นประเทศแรก ๆ ซึ่งระหว่างปี 2543-2555 นั้น จำนวนสถาบันอุดมศึกษาในเอสโตเนียลดลงจาก 41 แห่ง มาอยู่ที่ 29 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยทาลลินน์ ในเมืองหลวงได้ควบรวมกับสถาบันและวิทยาลัยขนาดเล็กกว่า 8 แห่ง ส่วนในเดนมาร์กนั้น มีมหาวิทยาลัยลดลงจาก 12 แห่งเหลือเพียง 8 แห่ง และศูนย์วิจัยของรัฐบาลได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย
นายโธมัส เอสเทอร์แมนน์ ผู้บริหารอียูเอ บอกว่าการควบรวมช่วยให้มหาวิทยาลัยมีบุคลากร และนักศึกษาเพิ่มขึ้นซึ่งนั่นจะช่วยให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีอิทธิพลมากขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของสถาบันให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ลดปัญหาความซ้ำซ้อน และแก้ปัญหาจำนวนนักศึกษาที่ลดลงจากภาวะที่ประชากรวัยหนุ่มสาวลดลง
ปัจจุบัน ฝรั่งเศสได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการควบรวมมหาวิทยาลัย โดยที่รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มให้มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยต่าง ๆ มารวมตัวกันในลักษณะคล้ายชุมชน แล้วจึงพิจารณาเรื่องการควบรวมอย่างเต็มรูปแบบ โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยปารีส - ซอร์บอนน์และมหาวิทยาลัยปิแอร์ แอนด์ มารี คูรี ก็เตรียมควบรวมสถาบันกันอย่างสมบูรณ์แล้วก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2561
ส่วนในเยอรมนีนั้น การควบรวมของมหาวิทยาลัยคาร์ลสรูห์กับศูนย์วิจัยคาร์ลสรูห์ แล้วก่อตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีคาร์ลสรูห์ (เคไอที) โดยมีเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ก็ช่วยให้สถาบันมีนักศึกษาเพิ่มขึ้น 20% นับแต่ปี 2552 อีกทั้งยังมีรายได้จากการวิจัยเพิ่มขึ้นอีก 50% ด้วย

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top