แฉร่างพรบ.แร่ฉบับใหม่เอื้อนายทุนสุดๆ นักวิชาการ-เอ็นจีโอ-ภาคประชาชนรุมต้าน หวั่นป่าต้นน้ำชั้นเอพินาศ ประธานมูลนิธิสืบเผยเล่ห์สัมปทานเหมืองทอง
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กทม. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดเวทีเสวนา “จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ” โดยมีตัวแทนชาวบ้านและนักวิชาการข้าร่วมประมาณ 50 คน

ดร.สุรพล ดวงแข ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า สถานการณ์ของการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ของประเทศไทย ในขณะนี้เป็นการทำ พ.ร.บ.ที่สวนทางกับการอนุรักษ์ โดยเฉพาะการอนุญาตให้เปิดพื้นที่ป่า ซึ่งอุตสาหกรรมแร่ หรืออุตสาหกรรมใดก็ตามที่ทำในป่า ย่อมเป็นการรบกวนสัตว์ป่าอย่างแน่นอน หากปล่อยให้เกิดขึ้น จะเป็นผลเสียต่อกระบวนการอนุรักษ์ในเมืองไทย และขัดต่อหลักการอนุรักษ์สากล เพราะตามแผนการอนุรักษ์ป่าของนานาชาติจะต้องสงวนป่าเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศ ไม่ใช่เพื่อการเปิดพื้นที่ทำอุตสาหกรรมใดๆ ขณะนี้พื้นที่อนุรักษ์ป่าเมืองไทยเหลือแค่ 30% เท่านั้น ถ้าจะมีพ.ร.บ.ที่เอื้อต่อการทำลายป่าอีก น่ากังวลไม่น้อย ว่าอนาคตป่าไม้เมืองไทยก็จะวิกฤติหนักขึ้น

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า การสำรวจพื้นที่ที่มีแร่ทำโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เช่นเดียวกับกรมป่าไม้ การร่างกฎหมายแร่มาในลักษณะเอื้อการทำธุรกิจเหมืองก็เท่ากับว่า ทั้งสองกรมร่วมมือกันได้ ทุกวันนี้เขตป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นที่ดินในสังกัดของรัฐ ทั้ง สปก. ภทบ. ล้วนแล้วแต่สงวนเพื่อการเปิดพื้นที่ทำธุรกิจในอนาคตทั้งนั้น ตัวอย่างกรณีเหมืองทอง การยื่นขออาชญาบัตรเพื่อการสำรวจแร่ไม่ใช่เรื่องยาก บริษัทสามารถใช้เทคโนโลยีสำรวจได้เต็มที่ในพื้นที่ป่าประเมินได้ว่าร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ป่าสงวนพบทองแน่นอน แต่มีแร่อื่นปนอยู่ด้วย หลักการของบริษัทที่ยื่นอาชญาบัตร คือ การยื่นให้กว้างๆ ครอบคลุมทั้งอำเภอ หรืออาจจะ 2-3 ตำบลใน 1 อำเภอ แล้วหลังจากนั้นก็นำมาสู่กระบวนการขอประทานบัตร ซึ่งขั้นตอนการขอประทานบัตรเจาะเป็นหมู่บ้าน แล้วทำประชาคมโดยประสานงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมเสนอตัวเลขในการแบ่งทางการเงินที่ อบต.มักไม่ปฏิเสธ และเสนอว่าจะทำเหมืองในบางหมู่บ้านเท่านั้น ดังนั้นถ้าประชาชนจะสู้ต้องสู้และต้านตั้งแต่การขออาชญาบัตร เพื่อจะชนะได้ง่ายขึ้น

“ตอนนี้ป่าสงวนมีราว 1,221 แห่ง ผมเชื่อว่าการขออาชญาบัตรเข้าไปสู่พื้นที่ป่าเหล่านี้ได้ หายนะของการอนุรักษ์ก็จะมาถึงแน่ๆ ที่น่าห่วงคือพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้นเอ เป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ ไม่มีการทำกิน หรือสร้างที่อยู่อาศัย ทับพื้นที่ก็เสี่ยงต่อการถูกสำรวจเช่นกัน ข้อสังเกตของผมคือ บริษัทเหล่านี้จะพยายามใช้ช่องว่างกฎหมายเพื่อทำธุรกิจมาโดยตลอด ทีนี้ถ้าจะกล่าวถึงผลกระทบจากเหมือง กรณีเหมืองทองในประเทศไทยแบบจังหวัดเลยนั้น ทำในพื้นที่ป่า พื้นที่เทือกเขา ก็อาศัยช่องทางขออนุญาตรัฐไปเลยทำได้สบายๆ แต่ มีเงื่อนไขว่า ถ้าทำไม่ดี ทำพลาด สารปนเปื้อนจะออกมาจากบ่อ จากพื้นที่ทำเหมืองมาสู่ชุมชนได้ ซึ่งตอนนี้ต้องระงับก็เพราะมีผลกระทบ แต่ยังไม่สู่กระบวนการพิสูจน์ความผิดเพื่อให้บริษัทรับผิดชอบเท่านั้นเอง ชุมชนก็รับผลกระทบไปเรื่อยๆ แต่กรณีพิจิตรนั้น เป็นที่ราบ ที่ส่วนบุคคล บริษัทจะใช้ช่องทางซื้อที่ดินโดยรอบก่อน แล้วค่อยๆ ตีวงล้อมเข้ามาสู่บ้านที่อยู่กลางชุมชน ที่หัวดื้อไม่เอาด้วย หวังให้ชาวบ้านทนอยู่ไม่ได้ เพราะผลกระทบเกิดเป็นมลภาวะทางอากาศ น้ำ แพร่สู่ชุมชน เมื่อนั้นคนทำเหมืองก็จะเข้ามาซื้อที่ดินในกลุ่มนั้น เพื่อทำเหมืองแร่ต่อไป ซึ่งไม่ได้ทำให้ธุรกิจชะงักลงเลย” นายศศิน กล่าว

นางศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)กล่าวว่า ข้อเสนอต่อการร่าง พ.ร.บ.แร่นั้น คปก.แนะนำว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายแร่ เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการแร่แห่งชาติ กรณีที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ต้องมีการแก้ไขแผนใหม่ นอกจากนี้ต้องมีคณะกรรมการแร่ ออกหลักเกณฑ์ในการกำกับอนุมัติ อนุญาตต่างๆ โดยมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการ ซึ่งหากพบว่าการดำเนินการทำแร่ที่ไม่คุ้มทุน และทำในพื้นที่อนุรักษ์ ก็สามารถคัดค้านได้ เพราะการเปิดพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อการทำประโยชน์พาณิชย์ของเอกชน ต้องคิดให้รอบคอบ และต้องมีคณะกรรมการจังหวัดเพื่อพิจารณากระบวนการต่างๆ ในพื้นที่ด้วย เพราะคนท้องถิ่นย่อมรู้ดีกว่าคนนอก ทั้งนี้แร่ถือเป็นทรัพยากรรวมของทั้งประเทศ ประชาชนถือว่ามีสิทธิในการบริหาร รัฐไม่ควรใช้อำนาจกลางเพื่อเดินหน้านโยบายแร่ไม่วาจะเป็นการสำรวจเพื่อขออาชญาบัตร ประทานบัตรก็ตาม

ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทางเครือข่ายมีการติดตามการเคลื่อนไหวของ พ.ร.บ.แร่มาโดยตลอด เหตุผลเดียวของคนตะวันออกที่ไม่ต้องการให้มีการขออาชญาบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติม เพราะภาคตะวันออกบอบช้ำจากอุตสาหกรรมมานานแล้ว ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อเกิดมลพิษอย่างกว้างขวาง และสูญเสียพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก ล่าสุดกรณีข้อมูลจังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ 12 จังหวัดที่รัฐบาลเปิดขออาชญาบัตรพิเศษนั้น ขณะนี้จันทบุรีมีตัวเลขรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรส่งออกต่างประเทศประมาณ ปีละ 80,000 ล้านบาท อีกทั้งเป็น (ต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง) แหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่สำคัญของไทย เป็นแหล่งปลากะพงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ชาวบ้านจึงต้องออกมาคัดค้าน อีกประเด็นคือ ขณะนี้ไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการที่รัฐมาผลักดัน พ.ร.บ.แร่ แบบเร่งด่วน เป็นการเสี่ยงและทำลายความชอบธรรมของภาคประชาชน มีแต่จะก่อเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จึงควรระงับการเดินหน้า พ.ร.บ.แร่ไว้ก่อน

“ผมไม่ได้บอกว่าเหมืองจะมีพิษโดยตรง แต่บอกว่าเหมืองเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้ามีเหมือง มีการระเบิดภูเขา มีทำลายที่ดินการเกษตร แปลว่า ทำลายสิ่งแวดล้อมในจังหวัด ซึ่งการขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ก็เท่ากับการเริ่มต้นทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ทั้งสำรวจบนดิน ผิวดินและใต้ดิน สำรวจใต้ดินก็ต้องขุดหลุม ขุดเจาะอยู่แล้ว” ดร.สมนึกกล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทลงทุนด้านกิจการเหมืองทองคำนั้น เสียภาษีที่ไม่ยุติธรรม จ่ายภาษีไม่คุ้มกับสภาพพื้นที่ที่ทำเหมือง เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ อย่างกรณีบริษัทอัครา รีสอร์ทเซส นั้นประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วขออาชญาบัตรนับล้านไร่ มีการงดจ่ายภาษีนำเข้าสารไซยาไนด์นานมากราว 5 ปี แร่ที่ขนออกไปยังฮ่องกง ออสเตรเลียสร้างรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท เสียภาษีแค่ 200 ล้านบาท ดังนั้นข้อท้วงติงเดียวที่ตนมีคือ หากประเทศไทยปรับเพดานภาษีไม่ดีพอ ไม่เต็มที่ก็เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาทำกำไรจากธุรกิจแร่ทองคำอย่างมหาศาล แล้วรับผิดชอบชีวิตประชาชนไม่ได้ ก็ควรปิดเหมืองไปทันทีและระงับการให้อาชญาบัตรด้วย

นางมณี บุญรอด ตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองแร่โปแตส จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ และการใช้อำนาจพิเศษเพื่อผลักดันกฎหมายด้านทรัพยากรของประเทศไทย เพราะเป็นการคุกคามประชาชน อย่างกรณีการทำประชาคมเหมืองแร่โพแตช ที่อุดรธานีที่ผ่านมา มีการจัดในค่ายทหารที่ผ่านมานั้น ประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิจะเสนอความคิดเห็นเต็มที่ เจ้าหน้าที่รัฐมีทั้งกระบอง โล่บัง และมีกำลังฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ เข้ามาดูแล คนที่คัดค้านเท่ากับคนที่เป็นศัตรูของรัฐ คล้ายกับบังคับประชาชนให้ไปฟังไปสนับสนุนนโยบายอย่างเดียว เห็นต่างไม่ได้ โดยส่วนตัวมองว่าการใช้อำนาจพิเศษเพื่อทำพ.ร.บ.แร่ และการจัดประชาคมช่วงภาวะรัฐบาลพิเศษไม่ได้คืนความสุข แต่เป็นการคืนความตายและสร้างความอ่อนแอให้ชุมชน เพราะชาวบ้านระแวงกับกระบวนการพัฒนาทุกอย่าง และอยู่รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างจำกัด จึงอยากให้ระงับนโยบายเหมืองแร่และระงับการออกกฎหมายในภาวะอำนาจพิเศษนี้ก่อน

....ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=9998 .

 
Top