เกาะที่เต็มไปด้วยคนตาบอดสี
ที่เกาะพิงกะแลป (Pingelap) เกาะหินปะการังของสหพันธรัฐไมโครนีเซีย ในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเกาะที่ได้ชื่อว่าเกาะตาบอดสี เนื่องจากประชากรบนเกาะราว 10% มีภาวะตาบอดสีอย่างแท้จริง คือมองเห็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น
ไมเคิล มอสลี่ย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ทุกวันนี้มีคนตาบอดสีแท้ ๆ ที่มองเห็นแต่สีขาวกับสีดำอยู่ไม่มาก เพราะแม้หลายคนจะบอกว่าตัวเองตาบอดสี แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงผู้มีความบกพร่องในการแยกแยะเฉดสีมากกว่า เนื่องจากผู้ที่ตาบอดสีขั้นรุนแรงนั้น ก็ยังสามารถแยกแยะเฉดสีต่างๆออกไปได้ถึง 20 เฉดสี เมื่อเทียบกับคนปกติที่สามารถแยกแยะได้ 100 เฉดสี
ตามปกติในจอประสาทตาของเรา มีเซลล์ 2 ชนิด ที่ทำให้เรามองเห็นวัตถุต่าง ๆ ได้ คือเซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปกรวย ซึ่งพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และพอตัวอ่อนมีอายุได้ 28 สัปดาห์ ก็เริ่มที่จะมองเห็นแล้วแม้แต่ในครรภ์มารดาที่มืดมิด ในตอนแรกจะเห็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น แต่เซลล์รูปกรวยจะพัฒนาต่อไปให้เรามองเห็นสีต่าง ๆ ได้ โดยในช่วงการพัฒนา โปรตีนรับแสงที่มีความไวต่อระดับคลื่นแสงสีต่าง ๆ คือ โปรตีนรับแสงสีแดง สีเขียวและสีน้ำเงิน จะส่งสัญญาณไปยังสมองให้แปลสัญญาณสีที่เราเห็น ให้ออกมาเป็นสีต่าง ๆ แต่ถ้าโปรตีนดังกล่าวนี้ทำงานผิดปกติ คนเราก็จะเห็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น
ศ. อิสราเอล อับรามอฟ แห่งภาควิชาจิตวิทยา ของวิทยาลัยบรูคลินในสหรัฐฯ ชี้ว่า โดยเฉลี่ยผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่จะมีภาวะบกพร่องด้านการแยกแยะเฉดสีน้ำเงิน เขียวและเหลือง ทั้งนี้น่าจะมาจากกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่เพศหญิงอาจทำหน้าที่ออกเก็บของป่ามาเป็นเสบียงอาหารมากกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการมองเห็นได้ดีกว่า เพื่อแยกแยะผลหมากรากไม้ชนิดต่าง ๆ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ในกรณีของเกาะพิงกะแลปนั้น ตาบอดสีเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ประชากรจำนวนมากบนเกาะนี้เห็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2323 ประชากรบนเกาะพิงกะแลปเกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ มีผู้รอดชีวิตเพียงแค่ราว 20 คน หนึ่งในนั้นคือกษัตริย์ผู้ปกครองเกาะ ว่ากันว่าทรงมีโรคทางพันธุกรรมทำให้ตาบอดสี และได้ถ่ายทอดอาการดังกล่าวให้กับคนรุ่นหลัง นอกจากนั้น เกาะดังกล่าวนี้ยังมีความเชื่อทางศาสนา ที่ไม่สนับสนุนให้คนบนเกาะแต่งงานกับคนภายนอก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มของยีนทั้งหมดที่มีอยู่ในประชากรมีขนาดเล็กและการกลายพันธุ์จึงคงอยู่มาถึงทุกวันนี้
การเห็นเพียงแต่สีขาวกับสีดำเท่านั้นก็นับว่าแย่แล้ว แต่เฮอร์รอล ชายชาวเกาะคนหนึ่งมีภาวะการมองเห็นแย่ไปกว่านั้นอีก เพราะตาของเขาสู้แสงไม่ได้ สิ่งที่เขาเห็นในวันแดดจ้า เป็นเสมือนภาพขาวดำที่ได้รับแสงมากจนเกินไป เขาบอกว่า “ตอนไหนที่มีแดด ผมมองไม่เห็น ทำอะไรไม่ได้” แต่อย่างน้อยเขาก็มีข้อได้เปรียบหนึ่งเรื่อง คือหลังพระอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว เฮอร์รอลบอกว่า เขาจะกลับมาเห็นได้ดีมาก ๆ ในที่มืด ผู้สื่อข่าวบอกว่า อาจมาจากกลไกการทำงานของสมอง ที่ตามปกติแปลสัญญาณแสงในตอนกลางวันที่แดดจ้า ทำงานประมวลผลเพิ่มขึ้นสำหรับการมองเห็นของเขาในตอนกลางคืนที่เป็นเฉดสีขาวดำ
ดังนั้นพอค่ำลง เฮอร์รอล และเพื่อน ๆ ของเขาก็จะออกทะเลไปหาปลา พวกเขาใช้คบเพลิงเพื่อล่อปลาให้ติดกับ สถานการณ์แบบนี้ทำให้เฮอร์รอลพลิกข้อเสียเปรียบให้เป็นข้อได้เปรียบ เขาเล่าว่า การหาปลาแบบนี้สนุกมาก และครอบครัวของเขาหวังให้เขาจับปลาได้มาก ๆ “พวกเราไปซื้ออาหารที่ตลาดไม่ได้ง่าย ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นแม้การหาปลาจะเป็นงานที่เหนื่อย แต่พวกเราก็สนุกกับมัน”
ผู้สื่อข่าวสรุปในตอนท้ายว่า สำหรับตัวเขาเอง ตอนนี้พยายามใช้เวลาเพื่อชื่นชมเฉดสีต่าง ๆ รอบตัวให้มากขึ้น แม้แต่สีขาว
ภาพประกอบ – ภาพ 1 และภาพ 3 เฮอร์รอล, ภาพ 2 เกาะพิงกะแลป, ภาพ 4 ชาวเกาะพิงกะแลป

 
Top