เราติดเทคโนโลยีมากเกินไปหรือไม่ ?
หลังเข้ารับการตรวจร่างกายที่คลินิกของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและพลังงาน โซอี้ ไคลน์แมน ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีของบีบีซี ก็ได้รับข่าวร้าย
“คุณมีอาการเหมือนคนที่อ่อนเพลียตลอดเวลา ร่างกายคุณดึงพลังงานมาจากระบบสำรองที่เตรียมไว้ใช้สำหรับเผชิญอันตรายหรือยามฉุกเฉิน และระบบนี้ในร่างกายของคุณถูกกระตุ้นมากเกินไปแล้ว หมอเดาว่าตอนบ่าย ๆ ทีไรคุณจะรู้สึกหมดแรง ซึ่งหมายความว่า การที่ร่างกายของคุณยังขับเคลื่อนไปได้ ก็เพราะปล่อยสารอย่างอะดรีนาลีน, นอร์อะดรีนาลีน และคอร์ติซอล ออกมา” นี่เป็นคำวินิจฉัยอาการที่ ดร. เนรินา รามลาข่าน บอกกับผู้สื่อข่าว
ดร. รามลาข่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่บำบัดผู้ป่วยโรคติดเทคโนโลยีบอกว่า อาการเหนื่อย เพลีย เมื่อยล้า เป็นผลมาจากวิถีชีวิตในยุคใหม่ ที่มีทั้งเรื่องในครอบครัว ต้องดูแลลูก ๆ ทำงาน ทำกิจกรรม สังสรรค์กับเพื่อนฝูง จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน แต่นิสัยอีกอย่างที่ผู้ป่วยที่คลินิกของเธอทำเหมือนกัน คืออยู่หน้าจอตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่อยู่บนเตียงและเตรียมตัวเข้านอนแล้ว “พวกเขาขึ้นเตียง แต่นอนไม่หลับ หรือ นอนหลับแต่พอตื่นมาก็ยังรู้สึกเพลีย พวกเขาบอกหมอว่า ปิดสวิตช์ให้สมองหยุดพักไม่ได้ มีผู้ป่วยอายุ 17 ปีคนหนึ่ง ถึงกับมีอาการชัก ทั้งนี้เป็นเพราะเขาไม่ได้หลับไม่ได้นอน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งคืน”
ดร. รามลาข่านยังชี้ด้วยว่า อาการเหนื่อยล้าหมดแรงจากการติดเทคโนโลยี มีความเชื่อมโยงกับบุคลิกภาพบางประเภทด้วย “ถ้าคุณจัดอยู่ในประเภทนิยมความสมบูรณ์แบบ ต้องควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้ได้ และนอนกัดฟันตอนกลางคืน ซึ่งเป็นลักษณะของคนบุคลิกภาพประเภทเอ คือ ชอบการแข่งขัน ทะเยอทะยาน ก้าวร้าว ต้องทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา คนแบบนี้จะปิดสวิตช์สมองตัวเองไม่ได้ หยุดพักผ่อนไม่เป็น ทำให้รู้สึกเหนื่อยเพลียตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่ดูโทรทัศน์ก็ยังต้องดูหลายช่องพร้อมกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ จึงทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน”
ดร. รามลาข่านแนะนำว่า สักราวหนึ่งชั่วโมงก่อนนอนให้ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด อ่านหนังสือได้ แต่ต้องห้ามใช้อีบุ๊ค ห้ามใช้นาฬิกาปลุกและห้ามตั้งนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือ เมื่อตื่นนอนได้สัก 30 นาที ให้ทานอาหารเช้าหรือหาอะไรรองท้องก่อนที่จะดื่มกาแฟหรือสูบบุหรี่ และให้ดื่มน้ำวันละสองลิตรต่อวันเป็นอย่างน้อย ผู้สื่อข่าวบอกว่า เธอลองทำตามคำแนะนำและอาการดีขึ้น ทั้งยังนอนหลับได้มากขึ้นด้วย
แคเธอรีน ชไตเนอร์-อแดร์ นักจิตวิทยาและนักเขียนเห็นด้วยกับดร. รามลาข่านที่ชี้ว่า การทำหลายอย่างหรือดูโทรทัศน์หลายจอในเวลาเดียวกันเป็นอันตราย โดยเฉพาะต่อเด็ก ๆ เธอชี้ว่า เด็กสมัยนี้ความจำแย่ลง ผลการเรียนไม่ดี เพราะสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมให้มีสมาธิ ขาดการพัฒนา
โรงเรียนในเครือชไตเนอร์-วัลดอร์ฟ มีกฎห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ขวบดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้จอภาพ ขณะที่สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการพยาบาลในอังกฤษ ให้คำแนะนำสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ว่า ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีจอภาพเพียงวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนผลการศึกษาของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอนพบว่า เด็กในโรงเรียนที่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ทำผลการเรียนได้ดีขึ้นกว่า 6%
ดร. เดวิด คอกซ์ หัวหน้าบุคลากรทางการแพทย์ที่ผลิตแอปพลิเคชั่นเพื่อการทำสมาธิชื่อว่า Mindfulness (สติ) เชื่อว่า เทคโนโลยีมีผลต่อสมอง “เหตุผลที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า เครียด จากการใช้เทคโนโลยี เป็นเพราะว่าสมองของเราไม่ชินกับเรื่องที่เราต้องการให้ร่างกายทำ แต่สมองเป็นอวัยวะที่ปรับตัวได้ไว ดังนั้นสมองของเราจะค่อยปรับให้เคยชินได้”




 
Top