อียูเรียกประชุมฉุกเฉินวิกฤติผู้อพยพ
สหภาพยุโรป (อียู) เรียกประชุมฉุกเฉินในวันที่ 14 ก.ย.เพื่อหาทางออกของวิกฤติผู้อพยพที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือกัน รวมถึงเรื่องความร่วมมือภายในอียู, การต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ และนโยบายส่งผู้อพยพกลับประเทศ ซึ่งเยอรมนี, ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ชี้ว่า อียู ควรจัดทำรายชื่อประเทศต้นทางที่มีความปลอดภัยเพื่อให้สามารถส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศได้ในทันที
ข้อมูลของฟรอนเท็กซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านพรมแดนของอียู ระบุว่า เมื่อเดือน ก.ค. มียอดผู้อพยพไหลบ่าเข้าอียูถึง 107,500 คน นับเป็นครั้งแรกที่ยอดผู้อพยพทะลุหลัก 100,000 คน ขณะที่ยอดผู้อพยพที่จมน้ำเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอยู่ที่อย่างน้อย 2,500 คนนับแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ด้านออสเตรียได้เพิ่มการตรวจรถบรรทุกใกล้กับพรมแดนทางภาคตะวันออก หลังพบศพผู้อพยพในรถบรรทุกห้องเย็น 71 ศพใกล้กับพรมแดนติดกับฮังการี ส่งผลให้การจราจรบนถนนสายหลักของฮังการีที่มุ่งหน้าสู่ออสเตรียติดขัดอย่างหนัก ด้านรัฐมนตรีมหาดไทยออสเตรีย บอกว่า จะดำเนินมาตรการนี้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการตั้งจุดตรวจดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อระบบเชงเก้นของอียู ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่จำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างชาติสมาชิก แต่ในบางสถานการณ์ชาติภาคีสามารถใช้มาตรการควบคุมพรมแดนได้
ทั้งนี้ อียูกำลังเผชิญปัญหาคลื่นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ไหลทะลักเข้าไป โดยขณะที่เยอรมนีคาดว่ายอดผู้ยื่นขอลี้ภัยในเยอรมนีจะพุ่งแตะ 800,000 คนในปีนี้ แต่อีกหลายประเทศกลับไม่ยอมรับผู้ลี้ภัย และไม่ยอมทำตามข้อเสนอของอียูที่ให้ช่วยกันรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ขณะที่หลายประเทศเพิ่มความเข้มงวดกับนโยบายด้านผู้ลี้ภัยและการรักษาความปลอดภัยบริเวณพรมแดน นอกจากนี้รัฐบาลบางประเทศก็กำลังพิจารณาเรื่องแก้ไขระบบเชงเก้น แต่มีเสียงคัดค้านจากคณะกรรมาธิการอียู และผู้บริหารอียูหลายคน

 
Top