ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว เเสดงความเห็นถึงการเคลื่อนไหวและเเสดงความเห็นทางการเมือง  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้  

"ผมจะไม่พูดถึงข่าวล่าสุดที่จตุพรออกมาบอกว่าจะ "ลั่นกลอง" ปลุกระดมประชาชนอะไรนะ แต่จะพูดถึงอะไรที่มันกว้างกว่านั้น เป็นเรื่องเดียวกันนี่แหละ แต่มองภาพกว้างออกไปในประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ และคิดๆมาสักพักแล้ว"

ในช่วงวิกฤติ ๑๐ ปีที่ผ่านมา สำหรับ "คนเสื้อแดง" และคนที่เชียร์ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย คุณทักษิณและเครือข่ายเป็น ๒ อย่างพร้อมๆกัน ซึ่งบรรดาคนที่เชียร์ บางทีก็ไม่ตระหนักว่า ๒ อย่างนี้ มันมีความแตกต่างสำคัญบางอย่างอยู่

ด้านหนึ่ง แน่นอน คนที่เชียร์เริ่มมาจากชอบคุณทักษิณในฐานะ รัฐบาล อันนี้ ก็รวมไปถึงหลังรัฐประหาร รัฐบาลสมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์ ด้วย คือชอบในแง่เป็นผู้บริหารประเทศ มีนโยบายที่รู้สึกว่าถูกใจ (จาก "๓๐ บาท" "สงครามยาเสพย์ติด" "โอท็อป" มาถึง "จำนำข้าว" ฯลฯ)

ผมจะไม่ถกเถียงในที่นี้ในแง่ว่า นโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณ (รวมสมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์) ดีไม่ดีอย่างไร แค่พูดความจริงพื้นๆที่ว่า มีคนชอบมากกว่าไม่ชอบ คือเห็นได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ก็ยังเลือกพรรคทักษิณเข้ามาบริหารประเทศเรื่อยๆ

ผมเป็นนักวิชาการ(ที่ไม่ได้ทำงานกับรัฐบาล)แทบจะคนเดียวในปี ๔๘-๔๙ ตอนเริ่มวิกฤติ ที่เสนอว่า ตราบเท่าที่ทักษิณได้รับความไว้วางใจจากเสียงส่วนใหญ่โดยผ่านการเลือกตั้ง ผมก็ยินดีจะดีเฟนด์ โดยเฉพาะดีเฟนด์จากการโจมตีของการเคลื่อนไหวที่วางอยู่บนฐานของกำลังที่ไม่อยู่ในระบบเลือกตั้ง-ตรวจสอบควบคุมไม่ได้เลย (สมัยนั้น ปัญญาชน"ทวนกระแส"เกือบทุกคน ไม่เห็นว่าเลือกตั้งสำคัญอย่างไร ผมจะไม่ทบทวนในที่นี้ เพราะจะยาว แต่เป็นแบบนั้นจริงๆ)

ประเด็นที่ผมจะพูดในที่นี้คือ ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทักษิณกับเครือข่ายยังมีบทบาทหรือสถานะอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ บทบาท-สถานะในฐานะ ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของมวลชน

๒ อย่างนี้ - ในฐานะรัฐบาล กับในฐานะผู้นำหรือแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน - เป็นอะไรที่ไมใช่อย่างเดียวกัน ความจริง มีความแตกต่างสำคัญอยู่

อย่างแรกนั้น ผมคิดว่า ต่อให้ไม่ชอบหรือวิจารณ์ได้อย่างไร เราอาจจะพูดได้ว่า ทักษิณกับพวกประสบความสำเร็จจริง อาจจะพอพูดได้ไม่ยากเลยว่า "บริหารดีกว่า ปชป" (ไม่ต้องพูดถึง คสช) และมองในเชิงหลักการปกครองประชาธิปไตย ต่อให้ไม่ชอบ ก็เป็นอะไรที่สามารถดีเฟนด์ได้ (คือดีเฟนด์ทักษิณกับพวกในฐานะรัฐบาลเลือกตั้งมา)

ปัญหาคือบทบาท-สถานะแบบหลัง

ในความเห็นของผม ในบทบาทสถานะของการเป็นผู้นำขบวนการเมือง ทักษิณกับพวก ไม่เพียงประสบความล้มเหลวอย่างแย่มากๆอย่างสำคัญ ยังเป็นผู้นำและแกนนำขบวนการการเมืองมวลชนที่แย่ ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความสามารถสุดๆด้วย

ผมไม่สามารถไล่เรียงโดยละเอียดในที่นี้ว่า ที่เพิ่งพูดมีอะไรบ้าง เอาแบบสั้นๆ แค่ ๒ กรณีที่รู้จักกันดี คือ

(ก) การตัดสินใจยึดราชประสงค์ปี ๕๓ เป็นการตัดสินใจที่แย่ ที่ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ด้วย และในที่สุด การตัดสินใจนาทีสุดท้าย ที่จะไม่ยอมรับ "โร้ดแม็พ" อภิสิทธิ์ เพื่อต่อรองบางอย่างเพิ่มเติมให้ทักษิณ เป็นการตัดสินใจที่ไม่เพียงโง่ หายนะในทางยุทธวิธี ยังสะท้อนลักษณะไม่มีคุณธรรม เอาชีวิตของมวลชนเข้าเสี่ยง (แล้วก็ตายเป็นเบือจริงๆ ทั้งๆที่หลีกเลี่ยงได้) และแน่นอนสะท้อนลักษณะรวบอำนาจขึ้นต่อผู้นำ ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย (เสียงทักษิณใหญ่พอจะเปลี่ยนความเห็นที่ส่วนใหญ่เอนเอียงไปในทางยอมรับโร้ดแม็พแล้ว)

(ข) กรณีเหมาเข่ง ในแง่ยุทธวิธีล้วนๆ (ไม่ต้องพูดถึงในแง่หลักการอะไรเลยในที่นี้) เป็นการตัดสินเชิงยุทธวิธีที่โง่บัดซบสุดๆ และเช่นเดียวกับกรณีราชประสงค์ เป็นการตัดสินใจที่สะท้อนลักษณะไม่มีคุณธรรมมากๆด้วย คือตลอดเวลาก่อนหน้านั้น เอาชีวิตในคุกมวลชนตัวเอง รอไว้เป็นตัวคอยต่อรอง หาโอกาสเพื่อช่วยผู้นำ และในที่สุด เมื่อมีโอกาสที่จะช่วยผู้นำ ก็ทำ โดยไม่คำนึงถึงว่า เป็นการทำลายโอกาสของมวลชนตัวเองอย่างไร และแน่นอน การที่ทั้งพรรคเอาด้วยกันหมดแบบเชื่องๆก็ยืนยันอีกครั้งถึงลักษณะรวบอำนาจขึ้นต่อผู้นำ ไม่เป็นประชาธิปไตยของขบวนนี้

(จริงๆ ยังมีเรื่องที่ต่อเนื่องกันช่วงวิกฤติ กปปส แต่ผมจะไม่พูดในที่นี้ เพราะมันจะยาว คือประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวแบบ "ใต้ดิน" ที่แพร่หลายมากในหมู่เสื้อแดงในช่วงนั้น โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ประเด็นนี้มันมีความซับซ้อนอยู่ คือจุดเริ่มต้นอาจจะไม่ใช่มาจากการนำของทักษิณและระดับนำโดยตรง แต่ว่า ในที่สุด ความรับผิดชอบที่ทำให้มีสภาพเช่นนั้นขึ้นได้ มีส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของระดับนำแน่นอน)

สรุปแล้วในฐานะบทบาทของผู้นำขบวนการการเมือง ทักษิณกับพวกมีลักษณะโง่และไร้คุณธรรม อันที่จริง ขบวนทั้งขบวนในแง่ความเป็นขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองมวลชน มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจขึ้นกับผู้นำ ไม่เป็นประชาธิปไตย มีลักษณะ "ระบบอุปถัมภ์" "มั่ว" สูงมากๆ

(อันที่จริง ควรกล่าวด้วยว่า ในสถานะรัฐบาล ลักษณะรวบอำนาจ ฯลฯ ก็มี แต่ในกรณีนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า กลายเป็นความสำเร็จของทักษิณในฐานะรัฐบาลด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ การที่อะไรๆก็ขึ้นกับทักษิณในฐานะนายกฯ ทำให้ทำอะไรเร็ว เด็ดขาด ฯลฯ ในแง่นโยบายบริหารประเทศ - นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า สถานะ ๒ อย่างที่พูดถึง มีความแตกต่างกันอยู่)

ปัญหาคือ สำหรับชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป บทบาท ๒ อย่างที่พูดนี้ มัน "ซ้อนทับ" กันอยู่ และคนที่ชอบทักษิณกับพวก ที่เริ่มมาจากการชอบในบทบาทแรก คือชอบในฐานะเป็นรัฐบาล (บริหารดี เศรษฐกิจดี ฯลฯ) ก็มักจะ "ถ่ายโอน" (transfer) ความชอบนั้น มาที่ทักษิณกับพวกในฐานะผู้นำขบวนการการเมืองด้วย พูดแบบง่ายๆคือ ทักษิณกับพวกเอาไงเอาด้วย ในแง่จังหวะก้าวการเคลื่อนไหวการเมือง ในแง่ท่าทีทางการเมือง ฯลฯ
และคนที่เชียร์ทักษิณ ด้วยสาเหตุจากบทบาทแรก (คือในฐานะรัฐบาล ชอบนโยบาย ฯลฯ) ก็มักจะเลยไปเชียร์หรือดีเฟนด์ในบทบาทหลังด้วย แม้ว่า ในขณะที่บทบาทแรก อาจจะกล่าวได้ว่ามีเหตุผลเข้าใจได้ที่จะเชียร์หรือดีเฟนด์ แต่ในแง่บทบาทหลัง ไม่มีเหตุผลให้ควรเชียร์หรือดีเฟนด์

(อันที่จริง ไมเพียงระดับชาวบ้านหรือมวลชนทั่วไป ในช่วงก่อนรัฐประหาร ผมมองว่า แม้แต่นักวิชาการหรือแอ๊คติวิสต์บางส่วน ก็ "สับสน" หรือไม่แยกระหว่างบทบาท ๒ อย่างนี้ด้วย ความรู้สึกผมคือในช่วงท้ายๆก่อนรัฐประหาร นักวิชาการจำนวนหนึ่ง - ซึ่ง ๘-๙ ปีก่อนหน้านั้น ยังไงก็ไม่เอาทักษิณๆๆ - กลับไปขึ้นต่อหรือตามจังหวะก้าวหรือยุทธวิธีของทักษิณ-เพื่อไทยในฐานะขบวนการเมืองมากไป แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อน ที่ไม่สามารถอภิปรายในทีนี้)


source :- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1440392093

 
Top